อะไรคือ ‘อัพไซเคิล’ UPCYCLE

การอัพไซเคิล (Upcycle) มาจากคำว่า Upgrade + Recycling คือการนำขยะ หรือวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วมาผลิตให้เป็นของใช้ที่มีมูลค่าและใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเดิม เข้าข่ายการนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ด้วย แต่ทั้งหมดไม่ต้องผ่านกระบวนการแปรรูปทางอุตสาหกรรมเหมือนกับการรีไซเคิล (Recycle)

แชร์โพสต์นี้

cover-อะไรคือ ‘อัพไซเคิล’ UPCYCLE

โดยส่วนใหญ่ ธุรกิจแฟชั่นในปัจจุบันได้นำนวัตกรรมอัพไซเคิลมาเป็นทั้งกระบวนการผลิตและจุดขายไปพร้อมกัน ใช้ความคิดสร้างสรรค์ (Creative) และใส่นวัตกรรม (Innovative) หรือไอเดียที่ไม่มีใครทำมาก่อน เพื่อให้สินค้ามีเอกลักษณ์ต่างออกไป เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นเท่าที่ผู้ผลิตต้องการ เช่น การนำกระดาษ พลาสติกหรือผ้าใบเก่า มาผลิตเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ เป็นต้น 

ตัวอย่างแบรนด์อัพไซเคิลระดับโลกที่เราคุ้นเคย เช่น แบรนด์ Freitag กระเป๋าจากยางรถยนต์หรือผ้าใบคลุมรถบรรทุก เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบการไทยก็ไม่น้อยหน้า เช่น Rubber Killer กระเป๋าจากยางรถยนต์เก่า, HUGELY กระเป๋าจากสายยางท่อดับเพลิง และ BASIC TEEORY เครื่องประดับจากกระดาษ เป็นต้น ขณะเดียวกัน แบรนด์ใหญ่ ๆ อย่าง NIKE, ADIDAS, BEAMS ฯลฯ ก็หันมาจับกระแสอัพไซเคิลและออกเป็นคอลเล็คชั่นพิเศษมาด้วยเช่นกัน

ในแง่ของสิ่งแวดล้อม การผลิตแบบอัพไซเคิลคือหนึ่งในหนทางในการปรับรูปแบบการทำธุรกิจแบบใช้แล้วทิ้ง (Take – Make – Dispose) มาเป็นธุรกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดขยะจากอุตสาหกรรมการผลิตและปลายทางคือการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้โลกใบนี้ ดังนั้น เทรนด์ ‘อัพไซเคิล’ อาจจะได้รับความสนใจไปอีกหลายสิบปี เพราะนี่คือการแสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างจิตสำนึกแก่ผู้คนทั่วไปให้ตระหนักถึงการใช้แล้วทิ้ง ทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิด ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)’ ที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นในระยะยาว

ขณะที่ โยฮาน โบเดกเกอร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Pentatonic แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากวัสดุที่ถูกทิ้ง ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Telegraph.co.uk ว่า กระบวนการอัพไซเคิลนั้นเป็นวิธีการแก้ปัญหาพื้นฐาน (Commonsense) ในกระบวนการผลิตแบบใช้แล้วทิ้ง กล่าวคือ ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร เรื่องนี้ก็ควรเป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ แม้สินค้าของเราจะไม่ได้ผ่านกระบวนการอัพไซเคิลโดยตรง ก็สามารถทำได้โดยการเปลี่ยนแพ็คเกจ ปรับปรุงกระบวนการผลิต เป็นต้น 

อีกมุมหนึ่ง จากบทความ Down the Cycling ในเว็บไซต์ Greenbiz.com มีการตั้งข้อสังเกตว่า ‘วัสดุที่ไม่ดี เมื่อผ่านกระบวนการอัพไซเคิล ก็ยังคงไม่ดีเหมือนเดิม’ ตัวอย่างคือ การนำพลาสติกที่มีสารพิษ มาดีไซน์เป็นข้าวของเครื่องใช้ สารพิษเหล่านั้นก็ยังคงตกค้างอยู่เช่นเดิม และท้ายที่สุดในกระบวนการย่อยสลาย สารเคมีก็จะยังคงตกค้างอยู่แน่นอน ทำให้อัพไซเคิลไม่ใช่การกระทำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ต้องคำนึงถึงอย่างถี่ีถ้วน

ในแง่ของธุรกิจ การผลิตแบบอัพไซเคิล เป็นการช่วยลดต้นทุนในการกำจัดขยะก็จริง แต่อย่าเพิ่งคิดว่าจะสร้างกำไรมหาศาล เพราะวัสดุเหลือใช้ทั้งหลายนั้นไม่ได้มีปริมาณมากพอให้นำมาผลิตได้อย่างไม่จำกัด (Limited Scale) อีกทั้งกระบวนการผลิตนั้นก็อาจมีความซับซ้อนหลายขั้นตอน ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอีก (Production Cost)

ด้านโอกาสในการทำการค้า ทุกคนมีโอกาสเท่า ๆกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็สามารถพบเจอและค้นหาวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วในชีวิตประจำวันได้เช่นเดียวกัน อยู่ที่ใครจะกวาดสายตาอย่างละเอียด มองเห็นและช่วงชิงโอกาสมาได้ก่อน จากนั้นก็อยู่ที่ไอเดียว่าเราจะพัฒนาสินค้าของเราอย่างไรให้โดดเด่นจากคู่แข่งมากมายที่อยู่ในสนามเดียวกัน ขอทิ้งท้ายว่า ความรู้จริง และเครื่องมือในการผลิตที่มีคุณภาพนั้น ยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจเสมอ

บทความที่เกี่ยวข้อง