Wellness อยู่ดีมีสุข ทุกช่วงวัย

เมื่ออายุยืนอย่างเดียวไม่พอ ผู้บริโภคจึงหันมาเลือกสินค้าเพื่อสุขภาพที่ดีตั้งแต่วันนี้

แชร์โพสต์นี้

cover-Wellness อยู่ดีมีสุข ทุกช่วงวัย

องค์การอนามัยโลกประมาณการอายุเฉลี่ยของคนทั่วโลกอยู่ที่ 72 ปี แต่มีการประเมินว่าประชากรโลกจะมีช่วงวัยสุขภาพดีเฉลี่ยอยู่ที่ 63.3 ปี และใช้เวลาอีก 8.7 ปีที่เหลือไปกับอาการเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพบางประการ อายุที่ยืนยาวเพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่เป้าหมายเดียวของสุขภาพที่ดีอีกต่อไป แต่การผัดผ่อนความชราและรักษาความสมบูรณ์ของร่างกายทั้งภายในและภายนอกไว้ก็เป็นส่วนสำาคัญ ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพทั่วโลกเติบโตอย่างรวดเร็วในไม่กี่ปีมานี้

จากข้อมูลของสถาบัน Global Wellness Institute พบว่าในช่วงปี 2558-2560 ตลาดสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 6.4 ต่อปี ขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวมโตขึ้นเพียงแค่ร้อยละ 3.6 ต่อปี โดยในปี 2560 มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพทั่วโลกอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 139.57 ล้านล้านบาท) ธุรกิจเพื่อสุขภาพที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดอันดับหนึ่งคืออุตสาหกรรมความงาม การชะลอวัย และผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเอง ตามด้วยอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ โภชนาการ และการลดน้ำหนักเป็นอันดับสอง

ธุรกิจความงาม การชะลอวัย และผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเองทั่วโลก มีมูลค่าสูงถึง 1,082 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 35,954.86 ล้านล้านบาท) ในปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 26.3 ของตลาดเพื่อสุขภาพทั้งหมด ในส่วนของประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เฉพาะช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2561 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,587.64 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 52,757.28 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2560 ถึงร้อยละ 21.21 โดยตลาดเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดหลักในการส่งออกของไทย สินค้าที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวชะลอริ้วรอย ผลิตภัณฑ์สปาที่เน้นการบำรุงผิว น้ำมันหอมระเหยผลิตภัณฑ์ที่ช่วยแก้ปัญหาผมร่วง ผมบาง ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของถ่าน เป็นต้น

ขณะที่ตลาดความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเองของประเทศไทยเติบโตขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี ทำรายได้ให้ประเทศกว่า 1.12 แสนล้านบาท ในปี 2560 บนเวทีโลก ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องสำอางอันดับที่ 17 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยประเทศในกลุ่มอาเซียนที่นำเข้าสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากไทยมากที่สุด คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตสูง เพราะกลุ่มลูกค้านิยมใช้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ ต่างจากสินค้ากลุ่มอาหารที่สามารถเปลี่ยนไปบริโภคสินค้ายี่ห้ออื่นได้บ่อยกว่า

ในส่วนของตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองอย่างธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ โภชนาการ และการลดน้ำหนัก ทั่วโลกมีมูลค่า 702.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 23,330.78 ล้านล้านบาท) สะท้อนถึงความเชื่อที่ว่าสุขภาพที่ดีเริ่มที่การบริโภค จากการศึกษาของบริษัทวิจัยด้านการตลาดซึ่งสำรวจผู้บริโภคกว่า 2,600 คนในประเทศอิตาลี กรีซ สเปน เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ พบว่าผู้บริโภคชาวยุโรปร้อยละ 70 เลือกซื้ออาหารเพื่อสุขภาพที่มีการลดปริมาณส่วนผสมของน้ำตาล เกลือ ไขมัน และควบคุมปริมาณแคลลอรีมากขึ้น นอกจากนี้ร้อยละ 53 ของผู้บริโภคยังเลือกซื้ออาหารออร์แกนิคอีกด้วย

สองกลุ่มธุรกิจที่กล่าวมาคือธุรกิจความงามและธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพนั้น มีขนาดตลาดรวมกันคิดเป็นร้อยละ 43.4 ของธุรกิจเพื่อสุขภาพทั่วโลก และธุรกิจทั้งสองยังเป็นธุรกิจที่สะดวกต่อการส่งออกมากกว่าธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากไม่ต้องลงทุนในสิ่งปลูกสร้างหรือบุคลากรหน้างานอย่างพนักงานบริการ อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่ประเทศไทย มีศักยภาพด้วยภูมิปัญญาและทรัพยากรในท้องถิ่นโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้การสนับสนุนการจับคู่เจรจาทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีกิจกรรมนำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยไปจัดแสดงในต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการส่งออกของไทย

ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารได้ทางเฟซบุ๊กเพจ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP เว็บไซต์ www.ditp.go.th หรือติดต่อสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169

บทความที่เกี่ยวข้อง

BCG ECONOMY

เศรษฐกิจฉบับ BCG เส้