Let’s Plant Meat ธุรกิจนวัตกรรม “เนื้อจากพืช” โดยฝีมือคนไทย

แชร์โพสต์นี้

ฟิวเจอร์ฟู๊ด

สมิต ทวีเลิศนิธิ ซีอีโอแห่ง Let’s Plant Meat เผยแนวคิด
สร้างธุรกิจเนื้อจากพืชที่ดีต่อใจ ดีต่อโลก และดีต่อคุณ

มีใครเคยรู้บ้างว่า “กว่า 80% ของพื้นที่การเกษตรบนโลกใบนี้ถูกอุทิศให้กับอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์” หรือ “เนื้อวัวที่อยู่ตรงหน้าเรา 1 กิโลกรัมต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตราว 5,000 – 20,000 ลิตร” ตัวเลขเหล่านี้แอบซ่อนอยู่เบื้องหลังรสอร่อยของ “เนื้อวากิว” “หมูคุโรบูตะ” และเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่เราบริโภคกันอยู่ในชีวิตประจำวันโดยที่เราไม่เคยรู้ที่มา

วิถีการบริโภคที่มี “รสอร่อย” เป็นตัวนำนี้บังคับให้โลกเราเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินแบบเกษตรพอเพียง มาสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่เป็นตัวการใหญ่ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก (ระบบเกษตรแบบอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศถึงกว่า 1 ใน 4 ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการผลิตและการบริโภค
ทั้งหมด) และนี่เองคือหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ สมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการ
ผู้จัดการบริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด ตัดสินใจสร้างธุรกิจนวัตกรรมเนื้อจากพืชแบรนด์ Let’s Plant Meat ขึ้น เพื่อนำเสนอแหล่งโปรตีนทางเลือกให้กับโลกอนาคต และช่วยลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ ที่เขามองว่ากำลังสร้างวิกฤตให้กับระบบนิเวศของโลกใบนี้

เมื่อดาว 3 ดวงโคจรมาพบกัน – จุดเริ่มต้นของ Let’s Plant Meat ดาวดวงที่หนึ่ง
เทรนด์อาหารและสุขภาพ สมิตเล่าให้เราฟังว่าจากประสบการณ์ในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารและการติดตามเทรนด์อาหารอย่างต่อเนื่อง เขาค้นพบว่าเนื้อแดงมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือด และโรคอ้วนในคนส่วนใหญ่ อีกทั้งการปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมก็มีความเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อและภาวะดื้อยาในประชากรโลก ที่น่าแปลกใจคืออุตสาหกรรมการผลิตอาหารในปัจจุบันกลับหลับหูหลับตามุ่งหน้าผลิตอาหารที่เอร็ดอร่อยต่อไป โดยละเลยประเด็นด้านสุขภาพพวกนี้

ดาวดวงที่สอง การผันตัวเองเป็นมังสวิรัติ เพื่อให้เข้าใจถึงแก่นของการบริโภคโปรตีนจากพืช สมิตตัดสินใจก้าวเข้าสู่วิถีมังสวิรัติด้วยตนเอง โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เขารู้ซึ้งว่าการเป็นมังสวิรัติเต็มตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย “จากก่อนหน้านี้ที่ผมสั่งอาหารทานอาหารได้ทุกเมนู พอเป็นมังสวิรัติจะเหลือแค่ไม่กี่เมนูเท่านั้น นี่คือ pain point หนึ่งที่การบริโภคโปรตีนจากพืชยังไม่เติบโตเท่าที่ควร” ความเข้าใจตรงนี้เองทำให้เขาเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ Let’s Plant Meat ขึ้นมา

ดาวดวงที่สาม ความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าเนื้อวัว 1 กิโลกรัมที่เราเห็นวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น จริงๆ มีกระบวนการผลิตเบื้องหลังที่ทำร้ายสภาพแวดล้อมโลกอย่างหนักหน่วงบวกกับการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มแหล่งเพาะปลูกอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ก็ทำให้พื้นที่ป่าไม้ในโลกลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นที่มาของมลพิษทางอากาศมากมาย เช่น ควันไฟและฝุ่น PM 2.5 ที่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการเผาไร่หลังเก็บเกี่ยวข้าวโพดนี้ด้วย

นวัตกรรมจาก 3 คำถาม – พัฒนาสินค้าอย่างไรให้ตอบโจทย์แท้จริง

สมิตดึงศักยภาพของทีมวิจัยในบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องปรุงรสและการพัฒนาผิวสัมผัสมาต่อยอดในกระบวนการพัฒนาเนื้อจากพืชให้มีรสชาติที่ถูกปาก ทานแล้วรู้สึกเสมือนเนื้อสัตว์จริง ซึ่งผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากการตั้งคำถามสำคัญ
3 ข้อ นั่นคือ

1. WHY ทำไมต้องทำเนื้อจากพืชออกมาขาย
เหตุผลที่สมิตตอบตัวเองได้คือประเทศไทยเราควรต้องมีวัตถุดิบอาหารทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2. WHAT IF จะดีไหมถ้าเนื้อจากพืชมีรถชาติอร่อยและทุกคนเข้าถึงได้
คำถามนี้นำมาสู่การพัฒนาสินค้าที่สร้างประโยชน์ให้ผู้คนอย่างสูงสุดนั่นคือ มีรสชาติที่ดี ราคาจับต้องได้ และซื้อหาสะดวก ซึ่งสมิตเชื่อว่าถ้า 3 เรื่องนี้คลิกกันเมื่อไหร่ ธุรกิจอาหารนั้นๆ จะประสบความสำเร็จแน่นอน

3. HOW TO จะทำอย่างไรให้เนื้อจากพืชกลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
สมิตท้าทายตัวเองในข้อนี้ด้วยการกำหนดจุดขายให้เนื้อจากพืชแบรนด์ Let’s Plant Meat เป็นวัตถุดิบที่เยี่ยมยอดสำหรับการปรุงอาหารไทยและอาหารเอเชีย

“ปัจจุบันการส่งออกเนื้อแดงไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกายุโรป และออสเตรเลีย มีข้อกำหนดเยอะมาก แต่ถ้าเราพัฒนาเนื้อจากพืชให้มีคุณภาพดี นำไปแปรรูปเป็นอาหารอื่นได้หลากหลาย เราก็มีโอกาสส่งออกสินค้าอาหารเอเชีย อย่างเช่น แหนม ไส้อั่ว ไส้กรอกอีสาน ทอดมัน หรือแกงเขียวหวานเนื้อที่ผลิตจากพืชได้ ถือเป็นการเจาะตลาดอาหารโปรตีนที่มีขนาดใหญ่กว่าตลาดพืชผักหลายเท่าตัว” สมิตกล่าว

ก้าวข้ามกำแพงสู่ตลาดกระแสหลัก
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของ Let’s Plant Meat ณ ปัจจุบันคือชาวมังสวิรัติ ชาววีแกน และกลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เลือกบริโภคสินค้าที่มีคุณค่าต่อตัวเองและต่อโลกไปพร้อมกัน อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่สมิตมองเห็นในวันหน้าคือการพาธุรกิจนี้ก้าวข้ามไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์

“การทำตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่นี้จำต้องอาศัยระยะเวลา เราต้องรอให้เขาเปิดรับแนวคิดและเปลี่ยนพฤติกรรมให้ได้ก่อน ฉะนั้นสิ่งที่แบรนด์ Let’s Plant Meat พยายามทำต่อเนื่องมาโดยตลอด คือการสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเห็นถึงคุณค่าของโปรตีนจากพืช ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม เหมือนกับที่ผมหันมาทานมังสวิรัติเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น และเพื่อจะส่งมอบโลกใบนี้ต่อให้ลูกหลานอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”

สมิตปิดท้ายการสนทนากับเราวันนี้ว่า การจะทำธุรกิจเนื้อจากพืชให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน คือการหาจุดสมดุลระหว่างความอร่อย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมให้เจอให้ได้ อย่างในกรณีของแบรนด์ Let’s Plant Meat ที่พัฒนาก้าวหน้ามาระดับหนึ่งแล้ว ขั้นต่อไปของพวกเขาคือการเพิ่มไลน์สินค้าให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น “เร็วๆ นี้เรากำลังจะออกสินค้าใหม่เป็นเมนูทงคัตสึในราคาไม่แพงมาก เพื่อเปิดช่องให้ผู้บริโภคที่อยากลองทานเนื้อจากพืชตัดสินใจง่ายขึ้น และในอนาคตเราอาจจะมีเมนูใหม่ๆ อย่างเช่น ลาบหมูทอด ไส้กรอก ทอดมันกุ้ง หรือเนื้อผัดกะเพรา ที่พร้อมจะส่งไปทำตลาดในต่างประเทศได้ด้วยครับ”

 

 

 

 

Loading

บทความที่เกี่ยวข้อง

cover-What is Electronic Customer Relationship Management

การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าในมุมของ E-CRM

นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจ และ E-CRM (Electronic Customer Relationship Management) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการบริหารข้อมูลให้กับองค์กรและธุรกิจได้มากขึ้น

Loading