จากพอเพียง สู่ธุรกิจยั่งยืน

หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทยมากว่า 40 ปี

แชร์โพสต์นี้

cover-จากพอเพียง สู่ธุรกิจยั่งยืน

หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรชาวไทยมากว่า 40 ปี เป็นแนวคิดที่ทั่วโลกตื่นตัวและนำมาประยุกต์ใช้ในหลายภาคส่วนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเข้ากันได้ดีกับการดำเนินธุรกิจได้อย่างไร

ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ธุรกิจต้องดำเนินไปตามหลักความพอประมาณ มีเหตุผลและบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืนต่อตัวธุรกิจเองและสังคมโดยรวม ไม่เอารัดเอาเปรียบหรือแสวงหาผลกำไรเกินควร จนไปเบียดเบียนผู้อื่น รวมไปถึงการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย

จากหลักการดังกล่าว ช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงเห็นบริษัททั่วโลกได้หันมาให้ความสนใจกับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมมากขึ้น โดยมีการแสดงออกในหลายระดับ ตั้งแต่จัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือสังคมในโอกาสต่าง ๆ หรือเรียกว่าความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ไปจนถึงการจัดตั้งธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ซึ่งเป็นกิจการที่มีรายได้จากการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าและบริการ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เช่น ร้านภูฟ้า ร้านดอยตุง ข้าวออร์แกนิกแจ๊สเบอรี่ของไทย แบรนด์รองเท้า Toms จากสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

การดำเนินธุรกิจตามแนวทางที่กล่าวข้างต้นล้วนสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่นอกจากจะเลือกซื้อสินค้าและบริการจากการพิจารณา “คุณภาพ” และ “ราคา” แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการทำ “ความดี” ของบริษัทผู้นำเสนอผลิตภัณฑ์เหล่านั้น

เห็นได้จากผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคชาวอเมริกัน 53,000 คน โดย Natural Marketing Institute (NMI) ที่ระบุว่า ผู้บริโภค 58% จะซื้อสินค้าหรือบริการของบริษัทที่พวกเขารู้ว่าสนใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมกับประเมินว่าชาวอเมริกันราว 68 ล้านคนจะตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ โดยพิจารณาจากปัจจัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลส่วนตัว คุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคพร้อมจะจ่ายเงินมากขึ้นอีก 20% เพื่อซื้อหาสินค้าและบริการที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม

การทำธุรกิจโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในสังคม ยังช่วยเพิ่มผลิตภาพลดต้นทุนของบริษัท ลดการสร้างมลพิษ เพราะบริษัทมีขั้นตอนการทำธุรกิจและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยให้บริษัทสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพให้มาทำงานกับบริษัท และทำให้นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน เพราะต่างต้องการเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม

บทความที่เกี่ยวข้อง

Bitcoin Economy

อนาคตของโลกการเงิน ค