ดีไซน์-นวัตกรรม เติมสีสันธุรกิจ

เมื่อรูปลักษณ์ภายนอกและความแปลกใหม่กลายเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ช่วยทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจและตัดสินใจจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการไปใช้

แชร์โพสต์นี้

cover-ดีไซน์-นวัตกรรม เติมสีสันธุรกิจ

ทุกวันนี้ ผู้บริโภคปรารถนาจะสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ ๆ อยากมีตัวเลือกของสินค้าและบริการมากขึ้น เมื่อรูปลักษณ์ภายนอกและความแปลกใหม่กลายเป็นแรงดึงดูดสำคัญที่ช่วยทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจและตัดสินใจจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการไปใช้ องค์กรธุรกิจหลายแห่งจึงได้นำ “ดีไซน์” และ “นวัตกรรม” มาสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอต่อลูกค้า อย่างเช่น “เอสซีจี” เครือธุรกิจชั้นนำของไทยที่ชูภาพเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม เดินหน้าพัฒนาสินค้าและบริการใหม่เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน เช่นเดียวกับ “ศรีไทยซุปเปอร์แวร์” ที่พลิกวงการเมลามีนด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์เมลามีนรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง และ “Qualy” แบรนด์ผู้ผลิตงานดีไซน์ข้าวของเครื่องใช้ที่มีลูกเล่นเก๋ ๆ และส่งออกไปขายคนทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม อย่าคิดว่า “ดีไซน์” และ “นวัตกรรม” เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์และบริการขั้นสุดท้ายก่อนถึงมือผู้บริโภคเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจจะผนึกดีไซน์และนวัตกรรมเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผนสำรวจความต้องการของลูกค้า การหาวัตถุดิบที่เหมาะสม การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิตไปจนถึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ และแผนการทำตลาด เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ดีขึ้นและตรงกับใจของลูกค้าเป้าหมาย

โดยเฉพาะกระบวนการดีไซน์ในขั้นตอนวิจัยและพัฒนาสินค้าต้นแบบจะทำให้ธุรกิจสามารถรวบรวมไอเดียใหม่ ๆ และค้นพบความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ซึ่งจะต่อยอดกลายเป็นสินค้าและบริการใหม่ที่โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งได้ในที่สุด

ส่วนในแง่ของ “นวัตกรรม” ก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่การทุ่มเทวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์สินค้าเท่านั้น เพราะผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่ได้มีเงินลงทุนทำ R&D แบบนี้มากนักก็สามารถใช้นวัตกรรมการออกแบบ (Design Innovation) มาพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคให้ดีขึ้นได้เช่นกัน เช่น การเพิ่มลูกเล่นภายนอก หรือประโยชน์ใช้สอย และออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เตะตาลูกค้า ที่ทำได้ง่ายกว่าและไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงมากนัก

ซึ่งมีผลสำรวจที่ตอกย้ำความสำคัญของนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ว่า ผู้บริโภคเกือบ 40% มองว่า นวัตกรรมด้านนี้ เช่น การเพิ่ม QR code บนบรรจุภัณฑ์ การปิดผนึกซองได้อย่างสะดวก

หลังเปิดใช้ครั้งแรก เป็นปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้า นอกจากนี้ลูกค้าประมาณ 40% ยอมรับว่าตัดสินใจซื้อสินค้าเพราะชื่นชอบบรรจุภัณฑ์ นี่จึงสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าบรรจุภัณฑ์ ที่มีดีไซน์โดดเด่น หรือมีนวัตกรรม
มีผลต่อการซื้อสินค้าอย่างแท้จริง

ดังนั้นหากไม่ได้มีเงินทุนมากพอจะนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาพัฒนาสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ ก็อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะหัวใจของ “ดีไซน์” และ “นวัตกรรม” คือไอเดียและมุมมองใหม่ ที่จะปรับเปลี่ยน “ของเก่า” ที่คุ้นเคยให้กลายเป็น “ของใหม่” ที่โดนใจคนซื้อต่างหาก

ต้องการต่อยอดไอเดียดี ๆ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ติดต่อสำนักนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า โทร. 02-507-8268

บทความที่เกี่ยวข้อง

Bitcoin Economy

อนาคตของโลกการเงิน ค