Digital Content ดาวรุ่งพุ่งแรง ยุค 4.0

ดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) คือความหวังอันสดใสของไทย เพราะเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการ New S-Curve หรือธุรกิจแห่งอนาคตที่มีโอกาสพัฒนาและเติบโตอย่างมาก

แชร์โพสต์นี้

cover-Digital Content ดาวรุ่งพุ่งแรง ยุค 4.0

ดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) พร้อมจะสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศไทยในยุค Thailand 4.0 จากที่ในปี 2558 อุตสาหกรรมแอนิเมชันและเกมของไทยมีมูลค่าตลาด 1.27 หมื่นล้านบาท

ผลงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการเหล่านี้เป็นสินค้าที่คนทั่วโลกกำลังต้องการ ซึ่งคนไทยขึ้นชื่อเรื่องฝีมือ และความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว

ผลงานของคนไทยจำนวนไม่น้อยคว้ารางวัลระดับโลกที่การันตีคุณภาพมาแล้ว เช่น “Shelldon” การ์ตูนทีวีแอนิเมชันเรื่องราวของเหล่าสัตว์น้ำในท้องทะเลอันดามันที่มีหอยเป็นตัวเอก ฝีมือการสร้างสรรค์ของ Shellhut Entertainment ที่มีผู้ซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ส่วนเกมสยองขวัญสั่นประสาทอย่าง “ARAYA” ของ MAD Virtual Reality Studio ก็ขึ้นแท่นเกมยอดฮิตขวัญใจชาวโลกไปแล้ว

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของความสำเร็จของนักสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ที่มีพื้นที่ยืนอย่างสง่างามในเวทีโลกเรียบร้อยแล้ว

สำหรับภาพรวมของตลาดดิจิทัลคอนเทนต์โลกประเมินกันว่า อุตสาหกรรมแอนิเมชันโลกมีมูลค่ารวม 2.44 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (8.54 ล้านล้านบาท) ในปี 2558 ธุรกิจย่อยส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้เติบโตปีละ 5%
วงการนี้มีตลาดสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และเยอรมนี

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเกมที่ทราบกันดีว่าอนาคตสดใสแน่นอน สำหรับปีนี้มีการประเมินว่ารายได้จากเกมดิจิทัลในตลาดโลกจะสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (3.4 ล้าน ล้านบาท) ซึ่งตลาดที่มีอนาคตสดใสมากที่สุดคือ Mobile Gaming หรือเกมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ขยายตัวสูงไปในทิศทางเดียวกับยอดขายสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต และคาดการณ์ว่าในปี 2563 ตลาด Mobile Gaming จะมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของมูลค่าตลาดเกมทั้งหมด

ส่วนโอกาสของนักสร้างสรรค์ชาวไทยในวงการนี้ยังเปิดกว้าง แต่ควรพัฒนาสินค้าสร้างสรรค์ในชื่อของตัวเองมากขึ้น นอกเหนือจากรับจ้างผลิตให้กับบริษัทต่างชาติ สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) ได้ชี้ช่องทางน่าสนใจไว้หลายอย่าง เช่น การพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ควบคู่ไปกับสินค้า หรือบริการรูปแบบอื่น อาทิ สิ่งพิมพ์ แอปพลิเคชันธีมอาหาร สวนสนุกธีมการ์ตูน หรือร่วมมือ กับสินค้าแบรนด์ไทยอื่น ๆ นำคาแรกเตอร์การ์ตูนไปอยู่บนบรรจุภัณฑ์ หรือร่วมมือกับบางจังหวัดในเมืองไทยพัฒนามาสคอตประจำจังหวัด รวมถึงการขายลิขสิทธิ์แบรนด์ให้กับประเทศที่ยังไม่ค่อยมีสินค้าคาแรกเตอร์มากนัก เช่น ประเทศกลุ่ม CLMV และจีน

ถึงวันนี้ต้องให้เครดิตนักสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์ชาวไทยที่พิสูจน์ฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกแล้ว และหากได้รับการส่งเสริมกันอย่างเต็มที่ในทุกรูปแบบ มั่นใจได้เลยว่า ดิจิทัลคอนเทนต์จะกลายเป็นอุตสาหกรรมเรือธงของไทยที่พร้อมชิงส่วนแบ่งในตลาดโลกได้อย่างสวยงาม ชนิดที่เรียกได้ว่า “ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง” อย่างแน่นอน!

ที่มา: สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
รายงาน Global Animation Industry 2017
www.newzoo.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

Bitcoin Economy

อนาคตของโลกการเงิน ค

BCG ECONOMY

เศรษฐกิจฉบับ BCG เส้