- การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ได้เร่งให้มีการนำเทคโนโลยีและบริการทางด้านดิจิทัลมาใช้ ซึ่งทำให้การค้าดำเนินไปอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีข้อจำกัดด้านการขนส่งและการเดินทางก็ตาม
- สิ่งนี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางการค้าให้ทันสมัยและการพลิกกลับกระแสของ Digital Protectionism โดยการเปิดให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างเสรี
- การปรับกฎเกณฑ์ทางการค้าดิจิทัลให้ทันสมัย ก้าวหน้าขึ้น สร้างการเชื่อมต่อกับผู้บริโภค และสร้างสรรค์มากขึ้นในโลกยุคหลังโควิด
โลกของเราถูกคุกคามอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ทั่วทั้งโลกประสบปัญหากับสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา การเติบโตทางการค้า ภาวะความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน และปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) เป็นเพียงแค่อีกหนึ่งความเสียหายของระบบ และเนื่องจากการขนส่งและการเดินทางถูกจำกัด การค้าดิจิทัลจึงมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ตั้งแต่ด้านอีคอมเมิร์ซ ค้าขายระหว่างประเทศ การชำระเงินดิจิทัล การประชุมทางไกลกับพันธมิตรทางธุรกิจทั่วโลก ไปจนถึงการทำธุรกรรมแบบดิจิทัลในการค้าขายสินค้าและบริการ
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของบริการดิจิทัลที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก บริการดิจิทัลไม่เพียงแต่ช่วยให้เราสามารถทำงานจากที่บ้าน ประชุมทางวิดีโอ ซื้อของชำและของใช้ในบ้านหรืออื่น ๆ ทางออนไลน์ วิกฤตนี้ทำให้เราเห็นภาพรวมของอนาคต เช่นการรักษาทางการแพทย์ทางไกลระหว่างประเทศโดยวิดีโอคอล อาจารย์ให้คำแนะนำทางไกลแก่นักเรียนที่เรียนจากบ้าน และวิศวกรส่งไฟล์การออกแบบไปยังเครื่องพิมพ์ 3 มิติเพื่อเปลี่ยนหรือแก้ไขชิ้นส่วน และในขณะที่วิกฤตการณ์แพร่ระบาดฯ ยังคงดำเนินต่อไป ก็ยิ่งเร่งให้เกิดการเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเดิมไปสู่บริการดิจิทัลมากยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กระนั้นการขยายตัวของการค้าดิจิทัลต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ช่องว่างที่เพิ่มขึ้นในการพัฒนาดิจิทัลระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้และ “การผูกขาด” ทางดิจิทัลที่เบียดผู้เล่นรายย่อยออกไป ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล อาจทำลายความไว้วางใจที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล
โดยหลายประเทศได้หันมาใช้มาตรการการป้องกันข้อมูลในระบบการบริการดิจิทัลซึ่งดูเหมือนว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ แต่ในความเป็นจริงกลายเป็นการเพิ่มต้นทุน และยังทำให้ลำบากต่อการเข้าถึงบริการดิจิทัลที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การป้องกันทางดิจิทัลมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ข้อจำกัดในการเคลื่อนย้ายข้อมูลข้ามพรมแดน ไปจนถึงข้อกำหนดการออกใบอนุญาตจากต่างประเทศที่ยากต่อการปฏิบัติตาม หรือแม้แต่การเรียกเก็บภาษีสำหรับ “การส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์” ข้ามพรมแดน
และนี่คือ 5 ข้อที่จะพาเราก้าวข้ามความท้าทายในการใช้ระบบการค้าดิจิทัลในอนาคต
1. การคาดการณ์ล่วงหน้าในการทำข้อตกลงทางการค้า โดยก้าวสำคัญก้าวแรกได้เกิดขึ้นเมื่อมีการแถลงการณ์ร่วมกันในงาน World Economic Forum Annual Meeting เมื่อปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการริเริ่มอีคอมเมิร์ซโดยมีการพยายามปรับปรุงกฎระเบียบที่ควบคุมการค้าดิจิทัลให้ทันสมัย ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้โชว์ศักยภาพความเป็นผู้นำทางด้านการค้าดิจิทัลด้วยการนำเสนอกรอบการทำงาน Digital Free Flow with Trust โดยเป็นนวัตกรรมด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลในระบบดิจิทัล แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลแห่งนวัตกรรมกำลังรวมตัวกันเพื่อปรับปรุงข้อผูกพันทางการค้าให้ทันสมัยและรับมือกับความท้าทายที่เผชิญกับระบบการค้าดิจิทัลทั่วโลก
2. ส่งเสริมการทำงานร่วมกันมากขึ้น การสร้างมาตรฐานการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดน การตรวจสอบเอกสาร ใบอนุญาตต่างๆ และการสร้างกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศในระบบการค้า
3. จัดทำเอกสารการค้าแบบดิจิทัล ด้วยข้อจำกัดในการขนส่งและการเดินทางเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ทำ ให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก การทำให้กระบวนการค้าเป็นรูปแบบดิจิทัลสามารถทำให้การค้าระหว่างประเทศมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ลดต้นทุน และลดอุปสรรคในการดำเนินการของ SMEs เช่น การทำธุรกรรมโดยการเซ็นต์ ลายเซ็นทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
4. ปิดช่องว่างการเข้าถึงระบบดิจิทัล เสริมสร้างการพัฒนาดิจิทัลให้ทั่วถึงสำหรับทุกคน การลงทุนมากขึ้นในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การเชื่อมต่อและการส่งเสริมด้านการศึกษา
5. สร้างเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้สำหรับทุกคน เทคโนโลยีดิจิทัลมีศักยภาพในการเข้าถึงผู้คนจำนวนมากขึ้น ลดต้นทุน และลดความไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ SMEs อย่างไรก็ตามระบบการค้าดิจิทัลจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อผู้คนเชื่อมั่น เราต้องสร้างเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้สำหรับผู้เข้าร่วมทุกคน รวมถึงการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้เร่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างมาก โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับปรุงกฎการค้าดิจิทัลให้ทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้อย่างไม่สะดุด อีกทั้งยังช่วยให้เราสามารถเข้าถึงและทำธุรกิจการค้าอย่างไร้พรมแดน ซึ่งอาจนับเป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤติที่สอนให้เราเรียนรู้ และดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและเติบโตเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม