การวางแผนภาษี ให้ธุรกิจยั่งยืน

การวางแผนภาษีธุรกิจให้ยั่งยืนสำหรับนิติบุคคลนั้น หลัก ๆ แล้วมี 3 องค์ประกอบด้วยกัน คือ 1. การกำหนดทุนจดทะเบียนให้มีประสิทธิภาพ ทางภาษีที่สุด, 2. การลดรายจ่ายต้องห้ามให้มากที่สุด, 3. เพิ่มรายจ่ายที่หักได้เพิ่มให้มากที่สุด ส่วนแต่ละองค์ประกอบจะเป็นอย่างไร ไปดูกัน

แชร์โพสต์นี้

cover-การวางแผนภาษี ให้ธุรกิจยั่งยืน

การกำหนดทุนจดทะเบียน

โดยทั่วไปมักเข้าใจว่าอัตราภาษีนิติบุคคลคือ 20% ทุกบาทของกำไรสุทธิ แต่สิ่งที่อาจไม่รู้กัน คือ บริษัทที่ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาทจะได้รับการงดเว้นภาษีในกำไรสุทธิตั้งแต่บาทแรกถึง 300,000 บาท และกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,001- 3,000,000 บาทจะเสียภาษีเพียง 10% และกำไรสุทธิที่เกิน 3,000,000 บาทขึ้นไปถึงจะต้องเสียภาษี 20%

ดังนั้น ถ้ากำไรสุทธิเท่ากัน บริษัทที่ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท จะเสียภาษีน้อยกว่าบริษัทที่ทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาทเสมอ นอกจากนี้ ยังอาจได้สิทธิประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการช่วยสนับสนุนบริษัทขนาดกลางและเล็กอีกด้วย

การลดรายจ่ายต้องห้าม

รายจ่ายต้องห้าม คือ รายจ่ายที่บริษัทต้องลงในบัญชีเพราะเป็นรายจ่ายของบริษัท แต่ไม่สามารถนำมาคิดเป็นรายจ่ายในทางภาษีได้ ซึ่งบริษัทควรจะหลีกเลี่ยงรายจ่ายต้องห้ามต่างๆให้ได้มากที่สุด ดังนี้ รายจ่ายตามประเพณี เป็นสิ่งที่บริษัทต้องเผชิญ เนื่องจากบริษัทที่ “ดูแลกันแบบครอบครัว” เจ้าของบริษัทมักจะช่วยลูกน้องในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น งานบวช งานแต่งงาน หรือกระทั่งงานศพ อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินเหล่านี้จะเป็นเงินบริษัท แต่ถ้าบริษัทไม่มีระเบียบชัดเจนถึง “สวัสดิการ” ของพนักงาน บริษัทจะไม่มีสิทธิ์นำมาหักเป็นรายจ่ายได้

รายจ่ายรับรองลูกค้า ถือว่าเป็นรายจ่ายที่นำมาหักภาษีได้ก็จริง แต่ในทางภาษีก็มีเพดานของรายจ่ายที่นำมาหักภาษีได้อยู่ เช่น ไม่สามารถหักค่ารับรองได้เกิน 2,000 บาทต่อคนต่อครั้ง และค่ารับรองทั้งหมดในปีภาษีหนึ่ง ๆ ก็รวมกันห้ามเกิน 0.3% ของรายได้ในปีภาษีนั้น เป็นต้น

สุดท้ายสิ่งที่บริษัทต้องระวังเป็นพิเศษ คือ รายจ่ายที่ไม่มีผู้รับ หรือ รายจ่ายที่ไม่มีหลักฐานการรับเงินนั่นเอง แม้ว่าบริษัทจะตั้งงบเบ็ดเตล็ดไว้ เพื่อซื้อสินค้าเล็กๆ น้อยๆ อย่างไรก็ดี สิ่งที่พึงระวังก็คือ รายจ่ายแบบนี้จะไม่สามารถหักเป็นรายจ่าย และไม่สามารถนำไปหักภาษีได้ หากไม่มีการออกใบเสร็จหรือไม่สามารถระบุผู้รับได้

การเพิ่มรายจ่ายที่หักได้เพิ่ม

รายจ่ายที่หักได้เพิ่ม คือ รายจ่ายที่จะสามารถคิดเป็นรายจ่ายได้มากกว่าเงินที่บริษัทจ่ายไป ซึ่งหลักๆ แล้วมันคือแรงจูงใจที่ภาครัฐสร้างขึ้นเพื่อให้ภาคธุรกิจมีการใช้จ่ายในสิ่งที่รัฐต้องการสนับสนุน เช่น 

• รายจ่ายด้านการอบรมพนักงานในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมสามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ถึง 2 เท่าของค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม.          

• รายจ่ายในการว่าจ้างคนพิการเข้าทำงาน สามารถนำค่าจ้างคนพิการมาหักเป็นรายจ่ายเพิ่มได้ถึง 2 เท่าของที่จ่ายเป็นค่าจ้างคนพิการ

• รายจ่ายในการซื้อหนังสือเข้าบริษัทมาให้คนในบริษัทอ่าน ไปจนถึงรายจ่ายเพื่อสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐกำหนด ก็สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่าตัวเช่นกัน (สามารถดูรายจ่ายอื่นๆ ที่สามารถนำไปหักได้เพิ่มได้ที่ กรมสรรพากร )

จะเห็นได้ว่าหลักการวางแผนภาษีของนิติบุคคลให้ยั่งยืนนั้นไม่ได้ยาก แต่ความยากอยู่ที่การนำไปปฏิบัติจริงมากกว่า ซึ่งต้องเอาข้อมูลมาพิจารณาพร้อม ๆ กันว่าบริษัทควรจะมีทุนจดทะเบียนเท่าใด บริษัทต้องมีรายจ่ายต้องห้ามใดบ้าง แต่มีความจำเป็นที่ต้องมีจริง ๆ ไปจนถึงบริษัทควรจะมีรายจ่ายที่หักได้เพิ่มเท่าใด จึงจะเป็นประโยชน์กับบริษัทที่สุด

ติดตามความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ SMEs อื่นๆ ได้ที่ Krungthai SME หรือ https://sme.ktb.co.th/

บทความที่เกี่ยวข้อง

Bitcoin Economy

อนาคตของโลกการเงิน ค