From Wellness to Wellbeing

แชร์โพสต์นี้

homepage05

นี่คือช่วงเวลาที่ไม่มีคำไหนสำคัญไปมากกว่าการดูแลสุขภาพกายและใจให้สมดุล เพราะท่ามกลางความไม่มั่นคงและไม่แน่นอน การได้มีสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวม (Holistic Wellbeing) เป็นคำตอบสำหรับใครหลายคน เริ่มตั้งแต่การเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย การทำสมาธิ และการดูแลตัวเองด้วยการปลอบประโลมทางอารมณ์ให้รู้สึกดี พัฒนาความเป็นอยู่ทางกายภาพที่ดีและเริ่มต้นฟื้นฟูสุขภาพจิตใจรวมไปถึงสุขภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจากสถาบัน Global Wellness ระบุว่า มูลค่าของตลาดโลกด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีการขยายตัวเติบโตสูงขึ้นจาก 563 พันล้านดอลาร์สหรัฐฯ ในปี 2015 มาเป็น 639 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 หรือเฉลี่ยแล้วโตขึ้นปีละ 6.5% และจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก คาดว่าความต้องการด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นโดยต่อเนื่อง

สุขภาพดีแบบองค์รวม

ท่ามกลางวิกฤติด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลก การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอกลายเป็นทั้งความท้าทายและเป้าหมายสำคัญในชีวิตของผู้บริโภค ขับเคลื่อนด้วยการปรับไลฟ์สไตล์ให้สมดุลและการหาทางเลือกเพื่อรักษาสุขภาพแบบองค์รวม เปลี่ยนจากการดูแลสุขภาพจากภายนอกเป็นการดูแลคุณภาพชีวิตที่เข้าถึงแง่มุมต่างๆ ทุกมิติ

นิยามของ “สุขภาพ” ในปัจจุบัน มีองค์ประกอบหลัก 4 ส่วนด้วยกันคือ

  1. สุขภาพกาย (Physical Health) หมายถึง สภาวะที่ดีของร่างกาย กล่าวคืออวัยวะต่างๆ ทำงานได้ดีตามครรลอง มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ร่างกายสามารถทำงานได้ตามปกติ และมีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี
  2. สุขภาพจิต (Mental Health) หมายถึง สภาวะที่ดีของจิตใจ ที่เราสามารถควบคุมอารมณ์ได้ตามสมควร มีความเบิกบานแจ่มใส ไม่เกิดความคับข้องหรือขัดแย้งในจิตใจแบบร้ายแรง สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุขและเหมาะสมตามสถานการณ์
  3. สุขภาพสังคม (Social Health) หมายถึง การที่ผู้คนมีสภาวะทางกายและใจที่สมบูรณ์ มีสภาพความเป็นอยู่หรือการดำเนินชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน สามารถปฏิสัมพันธ์และปรับตัวอยู่ในสังคมได้ดีและมีความสุข
  4. สุขภาพจิตวิญญาณ (Spiritual Health) หมายถึง สภาวะที่คนเราเข้าถึงปัญญาแห่งการดำรงชีวิต มีความรู้ทั่ว รู้เท่าทัน เข้าใจในเหตุผลแห่งความดีความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ นำไปสู่ความมีจิตอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อโลกแวดล้อม

กิจวัตรประจำวันและพิธีกรรมบำบัด

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปรากฏผลงานการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงพลังของความเชื่อมโยงระหว่าง ‘การสร้างสภาพแวดล้อม’ ที่ส่งผลต่อ ‘สุขภาวะที่ดี’ ที่มีชื่อเรียกว่า ‘สถาปัตยกรรมแห่งความเป็นอยู่และสุขภาพที่แข็งแรง’ นำมาสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ และการออกแบบสินค้าและบริการที่เน้นการใช้งานในแง่มุมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบแสงที่หัวเตียง ธุรกิจต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในบ้าน ไปจนถึงเครื่องฟอกอากาศที่ออกแบบมาให้สอดคล้องกับรสนิยมการใช้ชีวิตที่หลากหลาย

อย่างที่เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าการออกแบบสมัยใหม่เกี่ยวโยงกับความอุดมสมบูรณ์ทางร่างกายและเติมเต็มจิตวิญญาณเฉพาะบุคคลได้ ในปีนี้ เราจึงได้เห็นเทรนด์การออกแบบพื้นที่ใช้สอยในชีวิตประจำวันที่ส่งเสริม ‘ความเชื่อ’ และ ‘โมงยามของการสื่อสารจิตใจ’ มีสินค้าและบริการมากมายที่เข้ามาจับจุดเรื่องสุขภาพภายใน โดยเน้นเรื่องการผ่อนคลายและความรู้สึกสงบที่เป็นเรื่องใหญ่ในสังคมปัจจุบัน  แบรนด์และธุรกิจต่างๆ ร่วมกันค้นหาวิธียกระดับกิจวัตรประจำวันของผู้บริโภคให้ดีขึ้น ตั้งแต่เรื่องการทำอาหารในบ้าน การทำงานแบบรีโมทเวิร์คกิ้ง ไปจนถึงการดูแลเอาใจใส่ตนเองในภาวะที่มีข้อจำกัด สังเกตว่ามีแอพลิเคชันทำสมาธิออกสู่ตลาดมากมาย มีผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่เน้นสร้างประสบการณ์เชิงบำบัด ทั้งหมดนี้ก็เพื่อช่วยให้ผู้คนรับมือกับความเครียด ความวิตกกังวล และพาความรู้สึกสงบกลับสู่ภายในใจได้อีกครั้ง

บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ

เทคโนโลยีสามารถเป็นเครื่องมือที่ปรับพฤติกรรมมนุษย์ให้หันมาดูแลสุขภาพได้ง่ายขึ้น โดยปรับให้สอดรับกับสภาวะความเปลี่ยนแปลง และเน้นกลยุทธ์การเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนเราเข้าถึงสุขภาพที่ดีขึ้น  สังเกตว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ธุรกิจหลายสาขาสามารถออกแบบสินค้าและบริการใหม่ๆ หรือต่อยอดบริการที่มีอยู่เดิมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มลูกค้าได้

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจบริการลดน้ำหนักแบบ Weight Watchers ที่ร่วมมือกับโปรแกรม Zoom สร้างแพลตฟอร์มการลดน้ำหนักในแอพฯ บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์พฤติกรรม โดยได้นำข้อมูลเชิงลึกของผู้ใช้ เช่นการนั่งเก้าอี้เป็นเวลากว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน มาเป็นตัวแปรในการนำเสนอบริการที่เหมาะสม แพลตฟอร์มที่ว่านี้จะส่งคำเตือนให้ผู้ใช้ในโปรแกรม Zoom เพื่อชวนให้ปรับพฤติกรรมระหว่างวัน เช่นให้ลุกขึ้นยืน ยืดเส้นยืดสายระหว่างประชุม หรือเตือนให้ดื่มน้ำระหว่างวัน เป็นต้น

นอกจากนี้ แบรนด์และธุรกิจต่างๆ ได้เล็งเห็นความต้องการของผู้บริโภคที่อยากดูแลสุขภาพแบบองค์รวมมากขึ้น จึงเริ่มออกแบบพื้นที่ใช้สอยหน้าร้านและการจัดวางสินค้าแบบใหม่ ที่ช่วยให้ลูกค้าได้ฟื้นฟูความรู้สึกที่ดีต่อร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณอีกครั้ง ยกตัวอย่างร้านขายยา Rite Aid ในสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งทำการรีแบรนด์ใหม่ด้วยการมอบประสบการณ์ที่แตกต่างกว่าร้านขายยาปกติทั่วไป โดยปรับแนวคิดหน้าร้านทั้งหมดให้เป็น ‘จุดหมายปลายทางของสุขภาพแบบองค์รวม’ เพื่อยกระดับสุขภาพกายใจของลูกค้าให้ได้แบบครบวงจร อาทิ มีเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญประจำร้านที่พร้อมให้คำปรึกษากับลูกค้าในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายยาแบบดั้งเดิม หรือการรักษาแบบทางเลือก ฯลฯ

ไม่ต่างจากธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมที่ก็เห็นโอกาสจากการเปลี่ยนค่านิยมและพฤติกรรมใหม่นี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นเครือโรงแรมระดับโลกที่ปรับตัวสู่ความเป็น Wellbeing Hotel มากขึ้น เช่น Punta Vitality ในประเทศโครเอเชีย ที่เปิดตัวโปรแกรมการพักผ่อนรูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อ Space to Breathe เน้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายและจิตใจ ประกอบไปด้วยการทำสปา การเดินป่าเพื่อบำบัด การกินวิตามินและอาหารเสริมเพิ่มภูมิคุ้มกัน ฯลฯ หรือเครือโรงแรม Hilton ที่เพิ่มฟีเจอร์

Five Feet to Fitness™ – Hilton Wellness ไว้ในห้องพัก เพื่อให้แขกสามารถออกกำลังกายได้อย่างสะดวกในทุกเวลาที่ต้องการ ส่วนเครือโรงแรม Westin ก็เพิ่งรีแบรนด์ใหม่เป็น Urban Wellbeing Hotel ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้คนแบบเต็มตัวแล้วเช่นกัน

สำหรับในประเทศไทย เราก็มีจุดหมายปลายทางใหม่ของคนรักสุขภาพอย่าง RAKxa Wellness & Medical Retreat ที่นำเสนอรูปแบบการพักผ่อนและโปรแกรมดูแลสุขภาพแบบครบครันทุกมิติ เน้นแนวคิดการผสานวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ (Advanced Medical Science) และศาสตร์การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Wellness) เข้าด้วยกัน หนึ่งในโปรแกรมที่เป็นไฮไลท์เลยคือ RAKxa Jai ศูนย์รวมการบำบัดจากศาสตร์การแพทย์สาขาต่างๆ เช่น การแพทย์แผนไทยที่ใช้ตำรับแพทย์หลวงในรัชกาลที่ 2 แพทย์แผนจีน การใช้พลังงานบำบัด ไปจนถึงอีกศาสตร์ที่โดดเด่นคืออายุรเวชศาสตร์ ที่ได้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอินเดียมาประจำการเพื่อให้การรักษาและปรุงน้ำมันขึ้นเอง เป็นต้น

ธุรกิจไทยในกระแส Wellbeing

ในขวบปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เร่งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ไทยสู่เวทีโลกด้วยสินค้าและบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ด้วยนวัตกรรม หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจคือ ‘Smart Value Creation’ ที่ในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยวางกลไกให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้จับมือทำงานร่วมกับนักวิจัยพัฒนา อาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาช่วยสร้างสรรค์และต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ปัจจุบันประเทศไทยเรามีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพและการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดี ตัวอย่างที่น่าสนใจจากโครงการ Smart Value Creation ปี 2564 ก็มีเช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงสมองรูปแบบเม็ดจาก MD-Mate ที่พัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย นำวัตถุดิบธรรมชาติอย่างผักปวยเล้งมาสร้างสารสกัดรูปแบบเม็ด มีสรรพคุณช่วยการนอนหลับ ลดกังวล และช่วยเรื่องความจำในผู้สูงอายุ หรือในกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์และตกแต่ง ก็มีแบรนด์อย่าง Deesawat ที่จับมือกับนักวิจัยไทย พัฒนาสารเคลือบผิวนาโนซิงค์ นำมาเคลือบผิวเฟอร์นิเจอร์เพื่อฆ่าเชื้อโรคได้ นับเป็นการต่อยอดงานวิจัยเข้าสู่การเพิ่มมูลค่าในภาคธุรกิจได้อย่างแท้จริง
ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการค้า สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร 02 507 8267 หรือเฟสบุ๊ค DitpDesignDitp

ดูแลกันและกัน = ดูแลตนเอง

“การดูแลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ แต่ฉันคิดว่าพวกเราส่วนมากกำลังดูแลตัวเองด้วยวิธีที่ผิด” ผู้เชี่ยวชาญด้านความสุข ลอว์รี่ ซานโตส (Laurie Santos) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเยล เจ้าของวิชา The Science of Well-Being กล่าว “เพราะพวกเราคิดถึงแค่ฟองสบู่ในอ่างอาบน้ำหรือการดื่มไวน์ดีๆ สักแก้ว ในขณะที่งานวิจัยวิชาการให้ข้อสรุปว่าการดูแลตัวเองที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงนั้นเป็นเรื่องของการดูแลกันและกันทั้งสังคมมากกว่า” ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นการซื้อของเล็กๆ น้อยๆ เพื่อทำให้คนรอบข้างมีความสุขมากกว่าตนเอง เป็นต้น

เช่นเดียวกับที่ซาร่าห์ แอดเลอร์ (Sarah Adler) ผู้อำนวยการคลินิก Octave ศูนย์สุขภาพองค์รวมที่โด่งดังในสหรัฐอเมริกามองว่าการดูแลคอมมูนิตี้หรือสังคมแวดล้อมคือการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนที่เราให้ความสำคัญและเคยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน “มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและต้องการการเชื่อมต่อกับผู้อื่นอย่างยิ่ง” เธอกล่าว ฉะนั้นในช่วงเวลาที่ยากลำบากและผู้คนต้องเผชิญกับความรู้สึกโดดเดี่ยว มันจึงสำคัญมากที่เราต้องดูแลกันและกันและรักษาความสัมพันธ์เหล่านี้ เพื่อคงไว้ซึ่งความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง เพื่อสุขภาพใจที่เข้มแข็ง และเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวมให้เกิดขึ้นจริงในระยะยาว

เครดิตข้อมูล: WGSN, Global Wellness Summit, wellandgood.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

BCG ECONOMY

เศรษฐกิจฉบับ BCG เส้