เมื่อพูดถึงเส้นทางสายไหม (Silk Road) หลายคนคงนึกถึงอดีตเส้นทางการค้าสำคัญแห่งหนึ่งของโลกที่ถูกลืม แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนได้ปัดฝุ่นเส้นทางนี้ให้เป็นเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (New Silk Road) ภายใต้นโยบาย One Belt One Road เพื่อสร้างโอกาสด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางสายไหมทางบก ตั้งแต่ฝั่งตะวันตกของจีนไปสิ้นสุดที่ยุโรป และเส้นทางสายไหมทางทะเล ตั้งแต่ทางตอนใต้ของจีนไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสิ้นสุดที่ยุโรป ซึ่งจีนจะให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ที่เส้นทาง
พาดผ่าน ส่งผลให้จีนก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวทีการลงทุนระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ODI Stock) ของจีนในปี 2558 ที่เพิ่มขึ้นราว 3 เท่าจากปี 2553 และนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา จีนกลายเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา หลังจากที่เคยอยู่ในฐานะประเทศผู้รับความช่วยเหลือมาโดยตลอด
นอกจากจีนยังมีอีกหลายประเทศที่ได้รับประโยชน์จากเส้นทางสายนี้ รวมถึงประเทศไทย ที่แม้ไม่ได้อยู่บนเส้นทางสายไหมแห่งใหม่โดยตรง แต่ตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ไทยตั้งเป้าจะพัฒนาระบบคมนาคมให้เชื่อมโยงกับจีน ดังนั้น นอกจากภาคการคมนาคมขนส่งแล้ว
ภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวของไทยก็คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนของต่างชาติตามเส้นทางการค้าใหม่นี้ด้วยเช่นกัน
ที่มา: ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank)