รุ่งอรุณใหม่ของการค้าไทย – รัสเซีย

การจัดมหกรรมฟุตบอลโลกจะมีผลให้การค้าของไทยไปรัสเซียโดยรวมทั้งปี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารและวัตถุดิบในการปรุงอาหาร เติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 3 - 5

แชร์โพสต์นี้

cover-รุ่งอรุณใหม่ของการค้าไทย – รัสเซีย

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของรัสเซียและปัจจัยบวกที่เปิดโอกาสทางการค้าการลงทุนให้ผู้ประกอบการชาวไทยในตลาดรัสเซียและประเทศในเครือรัฐเอกราช หรือ CIS ตามที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ นายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ใน THINK TRADE THINK DITP ฉบับนี้
จะเป็นการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกในมิติต่าง ๆ ที่หลากหลายและครอบคลุม โดยจะกล่าวถึงรัสเซียเป็นหลัก เนื่องจากรัสเซียมีอิทธิพลสูงในทุก ๆ ด้าน และมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจในเครือรัฐเอกราช (CIS) ดังนี้

ปัจจัยบวกในการขยายตลาดสินค้าไทยในรัสเซีย
รัสเซียได้ก้าวพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างสมบูรณ์ และคาดว่าในปีนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจ จะอยู่ในระดับเดิม และขยับเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ผู้บริโภคมีรายได้และกําลังซื้อเพิ่มขึ้น สินค้านําเข้าถูกลง จึงมีแนวโน้มว่าจะมีการนําเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย ภาครัฐมีความตั้งใจจริงที่จะเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง และดําเนินนโยบายเปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศในเอเชียอย่างจริงจัง

โอกาสทางการลงทุนของไทย
ข้อแนะนําในการทําธุรกิจกับชาวรัสเซีย จากอดีตที่ค่าเงินรูเบิลมีค่าพอ ๆ กับเงินบาทของไทย แต่ปัจจุบันนี้ค่าเงินรูเบิลอ่อนลงเหลือ ประมาณ 1 รูเบิล ต่อ 0.60 บาทเท่านั้น ทําให้ผู้ประกอบการไทยที่จะลงทุนทางธุรกิจในรัสเซียจะได้ประโยชน์จากการที่ใช้เงินลงทุนที่ตํ่าลง รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมการเพิ่มประชากรและส่งเสริมการค้า ดึงดูดการลงทุนอย่างจริงจังกับทางฝั่งตะวันออกไกล โดยเสนอสิทธิประโยชน์ให้เป็นจํานวนมาก

อุปสรรคและปัญหาในการขยายตลาดในรัสเซีย
ภาษาในการติดต่อสื่อสารจําเป็นต้องใช้ภาษารัสเซียเป็นหลัก กฎระเบียบ ข้อกฎหมาย และหน่วยงานราชการบางส่วนยังล้าหลังและยังไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย องค์กรขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของภาครัฐ ประกอบกับการบริหารจัดการที่มีลักษณะเป็นราชการทําให้มีขั้นตอนมากและล่าช้า

ข้อแนะนําในการทําธุรกิจกับชาวรัสเซีย
พยายามศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น การพบปะกันมักมีของฝากเล็ก ๆ น้อย ๆ ติดมือมาด้วยเสมอ เป็นต้น รวมทั้งระบบการทําธุรกิจของท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะ ส่วนการสื่อสารควรพยายามปรับตัวใช้ภาษารัสเซียเป็นหลัก เพราะการสื่อสารเพื่อนําเสนอสินค้าเป็นภาษาอังกฤษมีโอกาสจะถูกละเลยสูง

แนวทางการส่งเสริมการส่งออกหลังมหกรรมฟุตบอลโลก
การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในช่วงหลังการแข่งขันที่มีเงินแพร่สะพัดในระบบเศรษฐกิจมีความสําคัญมาก โดยสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก มีแผนจัดกิจกรรม Thai Festival ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ในวันที่ 18 – 19 สิงหาคม 2561 โดยมีกิจกรรมสาธิตการประกอบอาหารไทยอย่างง่าย ๆ เปิดโอกาสให้ได้ลองชิมภายใต้แนวคิด Tom Yum Mania เนื่องจากต้มยําเป็นรายการอาหารที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและได้รับความนิยมสูงสุด

โดยสรุป การจัดมหกรรมฟุตบอลโลกจะมีผลให้การค้าของไทยไปรัสเซียโดยรวมทั้งปี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารและวัตถุดิบในการปรุงอาหาร เติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 3 – 5

บทความที่เกี่ยวข้อง