ปรัชญาพอเพียง ส่งเสริมธุรกิจสีเขียวยุค Thailand 4.0

สร้างความสมดุลระหว่างคนและธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันและเอื้อประโยชน์ต่อกันได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมทั้งภาคธุรกิจและสังคมแบบองค์รวม

แชร์โพสต์นี้

cover-ปรัชญาพอเพียง ส่งเสริมธุรกิจสีเขียวยุค Thailand 4.0

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นนักพัฒนาบนพื้นฐานของความยั่งยืน พระราชดำรัสที่ว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” นั้น หมายความว่า ต้องมุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คนและครอบครัวในชุมชนให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก แนวทางการพัฒนาประเทศของพระองค์จึงเริ่มจากความเป็นอยู่ของประชาชน ต่อมาคือสร้างความสมดุลระหว่างคนและธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันและเอื้อประโยชน์ต่อกันได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมทั้งภาคธุรกิจและสังคมแบบองค์รวม


ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะถ่ายทอดมุมมองการทำธุรกิจภายใต้แนวคิดรักษ์โลก และจุดประกายไอเดียให้กับผู้อ่านนิตยสาร THINK TRADE THINK DITP 


การส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มตามนโยบาย Thailand 4.0 สอดคล้องกับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไรบ้าง

สำนักฯ ได้ดำเนินภารกิจภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาโดยตลอด เราส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเป็นนักคิด นักออกแบบรู้จักนำภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่น และอัตลักษณ์ความเป็นไทยมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ รวมถึงต้องให้ความสำคัญเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในหลวงเป็นต้นแบบในการเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ และพัฒนา ดังนั้น ทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็น asset ของชาติที่ต้องช่วยกันรักษาไว้ ส่วนภาคอุตสาหกรรม สำนักฯ จะนำเสนอข้อมูลและความรู้เรื่องเทรนด์ ช่องทางการค้า การตลาด และการสร้างแบรนด์ ตลอดจนมุ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการเป็น Smart SMEs กระตุ้นให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นพื้นฐานในการสร้างหรือต่อยอดธุรกิจ


ต้องทำอย่างไรเพื่อเป็น Smart SMEs

ต้องเริ่มจากการรู้จักตัวเอง และต้องเปิดใจกว้างรับรู้และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ ไม่หยุดนิ่งและต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ เพื่อยกระดับตัวเองให้เป็น Smart SMEs เพราะตลาดโลกต้องการผู้ประกอบการแบบนี้


ทิศทางเทรนด์การผลิตและบริโภคสินค้าและบริการในตลาดโลก

ทุกวันนี้สิ่งที่คนให้ความสำคัญมากขึ้นคือ เรื่องผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์มาใช้วัสดุรีไซเคิลเท่านั้น แต่ต้องลงลึกถึงกระบวนการผลิต บางประเทศออกข้อบังคับเรื่องอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน ทั้งพลังงาน วัตถุดิบที่ใช้ แรงงานที่จ้าง การก่อมลภาวะ และผลกระทบที่มีต่อชุมชนโดยรอบ บางประเทศมี Green Tax ซึ่งกำหนดอัตราภาษีสูงสำหรับสินค้าที่ใช้วัตดุดิบที่มีส่วนทำลายโลก ดังนั้น ถ้าทำธุรกิจระหว่างประเทศจะต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้ให้ดี


โอกาสของผู้ประกอบการไทยในการพัฒนา Green Product และ Green Business เพื่อแข่งขันในเวทีโลก

คนไทยมีศักยภาพด้านการผลิตมาก แต่ส่วนใหญ่ยังขาดที่ปรึกษาที่จะช่วยคิดวางแผนกระบวนการพัฒนาแบบครบวงจร เราจะส่งผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ทั้งนักออกแบบและนักการตลาดไปให้คำแนะนำ และยังช่วยหาตลาดที่เหมาะสมให้ด้วย


ผู้ประกอบการสามารถเสริมศักยภาพและความพร้อมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าต่างชาติได้อย่างไร

ต้องเข้าใจเทรนด์โลก วิเคราะห์ความสามารถและข้อจำกัดของตัวเอง วิเคราะห์ความต้องการลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงเปิดรับช่องทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ เช่น การสื่อสารแบบดิจิทัลและสามารถสร้างจุดขายของสินค้าและบริการได้ เช่น ชาวยุโรปชอบสินค้าที่มีการบอกเล่าเรื่องราว (Story Telling) ผู้ประกอบการก็ต้องถามตัวเองว่ามีเรื่องราวใดที่จะถ่ายทอดได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น การเป็นธุรกิจสีเขียวที่เห็นเป็นรูปธรรม หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นต้น


DITP มีโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยพัฒนาสินค้าและบริการสีเขียวอย่างไรบ้าง

ที่ผ่านมา DITP มีหลากหลายโครงการ เช่น โครงการรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น (PM Awards) มีรางวัลประเภทสินค้านวัตกรรมที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยอดเยี่ยม (Best Green Innovation) โครงการ T-Style ที่นำผลิตภัณฑ์จากภาคอีสานมาพัฒนาต่อยอดสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ในตลาดสากล และโครงการ DEWA (Design from Waste of Agriculture) ที่ส่งเสริมให้นำวัสดุ เช่น มันสำปะหลัง ใยสับปะรด ขี้เลื่อย มาผลิตสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งของใช้เหล่านี้เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดโลก


ความสำเร็จของโครงการและตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในเวทีโลก

DITP ขอแบ่งความสำเร็จเป็น 2 ส่วน คือ ความสำเร็จในส่วนของ “คน” ที่เรียกว่า Creative
Startups ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ประมาณ 400 กว่าราย ที่ได้รับพื้นฐานความรู้การทำธุรกิจสร้างสรรค์จาก DITP และความสำเร็จส่วนที่สองคือ “ผลงาน” เช่น โครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี (DEmark) มีผลงานได้รับรางวัลนี้ประมาณ 600 กว่ารายการ นับตั้งแต่ดำเนินโครงการมา 9 ปี และยังมีผลงานอีกนับหมื่นรายการที่อยู่ระหว่างการวัดผลของการประกวดในโครงการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม DITP ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ทุกราย จึงจำเป็นต้องเลือกผู้ประกอบการดีเด่นในแต่ละด้าน หรือสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น Labrador Eqologist Pin-Metal Life เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นต่อไป


แผนดำเนินงานในอนาคต

ในเดือนธันวาคม 2559 DITP ร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) จัดงาน Chiang Mai Design Week และเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จะร่วมกับนิตยสาร ART4D จัดงาน Bangkok Design Festival นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น เช่น การประกวดรางวัล DEmark ด้านการออกแบบและใช้วัสดุรีไซเคิล ซึ่งจะจัดช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2560 ส่วนโครงการ DEWA ก็จะส่งเสริมอย่างต่อเนื่องต่อไป


สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ditp.go. 

บทความที่เกี่ยวข้อง