เข้าใจวัยเก๋า คว้าโอกาสทำเงิน

ชาวญี่ปุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปมีสินทรัพย์มากกว่าร้อยละ 80 ของสินทรัพย์ทั่วประเทศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ที่ ‘เลือกมากขึ้น’ ผู้ประกอบการต้องพร้อมปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสการค้าให้ทัน

แชร์โพสต์นี้

cover-เข้าใจวัยเก๋า คว้าโอกาสทำเงิน

สังคมผู้สูงอายุเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัว ในเชิงธุรกิจถือเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการ
ต้องพร้อมปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสการค้าให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และประเทศญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่หลายคนคงจะนึกถึง ด้วยกว่า 1 ใน 4 ของคนญี่ปุ่นคือผู้สูงอายุ มักมีรอยยิ้มและสุขภาพแข็งแรง

คุณจิตต์วิภา ศักดิ์พิทักษ์สกุล ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครโอซากา มาร่วมแบ่งปันข้อมูลให้ผู้ประกอบการไทยคว้าโอกาสทำเงินในตลาดผู้สูงอายุ ผู้ซึ่งต้องการความแปลกใหม่ที่มาพร้อมความเข้าใจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ที่ ‘เลือกมากขึ้น

ภาพรวมตลาดผู้สูงอายุในญี่ปุ่น 

จากสถิติล่าสุดปี 2016 ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก โดยมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปร้อยละ 27.3 หรือประมาณ 34.67 ล้านคนจากทั้งหมดประมาณ 127 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 ในปี 2030 ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่ม Active กลุ่มนี้ยังคงมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้ ไปไหนมาไหนได้เอง อาจจะยังคงทำงานอยู่บ้าง 2) กลุ่มผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง จึงต้องการสินค้าและบริการที่มารองรับในส่วนที่ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง 3) กลุ่มผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือนอนติดเตียง จึงต้องการสินค้าและบริการ เพื่อช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน สะดวกในการดูแลและการฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง

ไลฟ์สไตล์และกิจกรรมทางสังคม

โดยรวมจัดเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ชาวญี่ปุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปมีสินทรัพย์มากกว่าร้อยละ 80 ของสินทรัพย์ทั่วประเทศ บางคนอาจจะยังคงทำงานอยู่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบ part time เพื่อให้รู้สึกว่าชีวิตยังมีคุณค่าสามารถหารายได้ให้ตัวเอง ไม่พึ่งลูกหลานมากเกินไป มีไลฟ์สไตล์เหมือนคนทำงาน ยังคงสังสรรค์และมีกิจกรรมทางสังคม

สื่อสารแบบเข้าถึงกับ Active Senior

กลุ่ม Active Senior มักจะมีการดูแลร่างกายและจิตใจให้มีสุขภาพดี มีการสื่อสารและพบปะกับกลุ่มเพื่อนและยังมีไลฟ์สไตล์ที่ชอบเข้าสังคม กลุ่มนี้สามารถสื่อสารผ่านช่องทางทั้ง offline และ online รวมทั้ง social media ต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างสูง เก็บเงินมาทั้งชีวิต อยากใช้จ่ายเพื่อให้รางวัลแก่ตัวเอง จะให้ความสนใจรับข้อมูลสินค้าและบริการใหม่ ๆ ผ่านทางโฆษณา ทั้งเรื่องแฟชั่นสินค้าไลฟ์สไตล์และสินค้าแบรนด์เนม

การพัฒนาสินค้าและบริการ

ผู้ประกอบการควรเน้นสินค้าและบริการที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและผู้ดูแลดีขึ้นทั้งทางกายภาพและความรู้สึกทางด้านจิตใจ เช่น Lawson เป็นร้านสะดวกซื้อที่เพิ่มไลน์สินค้าสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้นและมีบริการให้คำแนะนำด้านสุขภาพ มีการปรับทางเดินในร้าน เน้น universal design ทำให้รถเข็นสามารถเคลื่อนย้ายง่ายไปได้รอบร้าน ส่วน Panasonic ได้ออกแบบเครื่องซักผ้าให้มีการใช้ง่ายขึ้น เนื่องจากเข้าใจข้อจำกัดด้านสายตาและการเคลื่อนไหวของข้อของผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ยังมีการออกแบบเครื่องช่วยฟังให้สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ง่ายขึ้น ทำให้ Panasonic มียอดขายและส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น

 

ธุรกิจที่น่าสนใจและคำแนะนำ

สำหรับเจาะตลาดธุรกิจที่น่าสนใจ ได้แก่ ธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพ บริการดูแลผู้สูงอายุ ที่พักสำหรับผู้สูงอายุ การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ อาหารเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ เครื่องสำอางและสปา โดยสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยในญี่ปุ่นควรได้รับการ
รับรองมาตรฐาน 3 เครื่องหมายคือ Silver, JIS และ Universal Design Food

ตลาดผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเป็น sector ใหญ่และเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้จะมีกำลังซื้อสูงแต่ก็เป็นตลาดที่มีความละเอียดอ่อน และต้องการความแปลกใหม่ที่มาพร้อมความเข้าใจ ดังนั้น การนำเสนอสินค้าและบริการจึงควรเน้นคุณภาพ เหมาะกับสรีระของผู้สูงอายุ ความปลอดภัย ใช้ง่ายไม่ซับซ้อนและอำนวยความสะดวกมากที่สุด


สนใจขอข้อมูลตลาดผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ติดต่อสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประเทศญี่ปุ่น ณ นครโอซากา
อีเมล: ttcosaka@thaitrade.j

บทความที่เกี่ยวข้อง