ข้อมูลการค้ารอบโลก ประจำเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2563

ส่องตลาดแคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย อิหร่าน ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา แล้วมาดูว่ามีธุรกิจอะไรน่าสนใจในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติไวรัสโคโรน่า (COVID-19)

แชร์โพสต์นี้

cover-ข้อมูลการค้ารอบโลก ประจำเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2563

ประเทศแคนาดา

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
จับตาธุรกิจอุตสาหกรรมค้าปลีกกลุ่ม Non-Food หลังล็อกดาวน์ในแคนาดา

วิกฤตไวรัส Covid-19 มีผลกระทบครั้งใหญ่กับอุตสาหกรรมค้าปลีกในแคนาดาที่ทำให้เกือบทุกธุรกิจต้องรีบเร่งในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาธุรกิจส่วนใหญ่ได้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก วิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้บีบให้ธุรกิจที่จะสามารถอยู่รอดได้ต้องมีกลยุทธ์มีความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) และความเร็ว (Speed) ในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแต่เดิมร้านค้าส่วนใหญ่อาจรับรู้ถึงกระแสธุรกิจค้าขายออนไลน์หรือ E-Commerce ที่บริษัทส่วนใหญ่มองว่าหรือมีแผนที่จะปรับภายใน 3-5 ปี แต่เนื่องจากวิกฤต Covid-19 ทำให้ธุรกิจต้องรีบปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วภายใน 3-5 สัปดาห์มิฉะนั้นธุรกิจก็ไม่สามารถอยู่รอดหรือไปต่อได้ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายโดยเฉพาะผู้ประกอบการระดับกลางและย่อย (SMEs) ที่มีทรัพยากรจำกัดในเรื่องเงินทุน แรงงานคน และทักษะเทคโนโลยีในการปรับตัว ซึ่งยามวิกฤตนี้ความยืดหยุ่นในการปรับตัวที่รวดเร็วเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป โดยผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดและแสวงหาโอกาสช่องการทางการตลาดที่น่าสนใจต่อไป


สาธารณรัฐประชาชนจีน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
ทุเรียนไทยส่งออกราคาดีในตลาดจีน

จะเห็นได้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 ไทยส่งออกทุเรียนสดไม่รวมทุเรียนแช่แข็ง (HS Code : 081060) ไปยังประเทศจีน คิดเป็นปริมาณ 50,213 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.26 (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 158,171,442 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.21 (YoY) หรือคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดถึงเกือบร้อยละ 70 และเป็นประเทศนำเข้าอันดับ 1 ของการส่งออกทุเรียนสดไทย โดยมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าอื่นส่วนใหญ่มีปริมาณลดลง ทั้งนี้เมื่อพิจารณาปริมาณการส่งออกทุเรียนสดไทยไปยังจีนที่เพิ่มขึ้นประกอบกับราคาส่งออกทุเรียนสดไทยในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นก็ยิ่งทำให้มูลค่าการส่งออกทุเรียนสดไทยไปยังจีนสามารถขยายตัว เพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าราคาทุเรียนสดไทยในตลาดจีนปีนี้จะมีราคาสูงขึ้น แต่ชาวสวนทุเรียนไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรชะล่าใจและควรเฝ้าติดตามสถานการณ์ชายแดนอย่างใกล้ชิดควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทุเรียนสดไทยให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามข้อกำหนดของตลาดจีน รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งออกในสถานการณ์ที่อาจผันผวนต่อเนื่องในอนาคต ทั้งนี้เพื่อให้ไทยสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดทุเรียนสดในตลาดจีนได้อย่างยั่งยืนต่อไป


ประเทศอินเดีย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี
ผลสํารวจพฤติกรรม นักท่องเทียวอินเดีย หลังผ่านพ้นวิกฤต COVID-19

จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ประเทศอินเดียจะยังคงอยู่ในช่วงล็อคดาวน์และถึงแม้ชาวอินเดียยังไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้ในเร็ว ๆ นี้ แต่ผลสํารวจพฤติกรรมการท่องเที่ยวชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเปนแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมาย อันดับต้น ๆ ของนักท่องเทียวชาวอินเดีย ทําให้คาดการณ์ได้ว่าจะมีนักท่องเทียวอินเดียจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทยหลังสถานการณ์คลี่คลายลง ผู้ประกอบการไทยที่ควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปและควรสร้างความมั่นใจในการท่องเที่ยว เช่น การปฏิบัติเกี่ยวกับสุขอนามัยในการเดินทางและการใช้บริการการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์รูปแบบการโฆษณา การชําระค่าบริการ รวมทั้งการจัดโปรโมชั่นจูงใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสทางธุรกิจที่จะมาถึง


ประเทศอิหร่าน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน
ผลกระทบของไวรัส COVID-19 ต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศอิหร่าน

การระบาดของโรคโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกทั้งทางโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ และสภาพจิตใจของผู้บริโภคเป็นผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายตลอดจนการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยซึ่งในอิหร่านส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สินค้าบางรายการถูกลบออกจากตระกร้าสินค้าอุปโภคบริโภคประจําครอบครัว ผู้คนหันไปซื้อสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารและของใช้จำเป็นในครัวเรือน การจ่ายเงินจะเป็นการจ่ายในรูปของบัตรเครดิตหรือจ่ายผ่านแอฟพลิเคชั่นเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินสด ราคาโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟน แทปเลต โน๊ตบุ๊ค ในตลาดขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้คนหันมาใช้บริการสื่อดิจิทัลและซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่นเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผู้บริโภคสินค้านิยมซื้อสินค้าที่มีบรรุจภัณฑ์ปิดผนึก ติดฉลากและมีตรารับรอง มาตรฐานเพิ่มขึ้นแทนการซื้อสินค้าแบบชั่งกิโลเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องตระหนักรู้และพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งจัดทำระบบรองรับต่าง ๆ ทั้งในด้านการค้าออนไลน์และระบบการชำระเงินเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป


ประเทศญี่ปุ่น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา
จับตาธุรกิจ Hybrid [Supermarket X Delivery] ธุรกิจดาวรุ่งในตลาดญี่ปุ่น

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค บริษัทโลจิสติกส์ Startup LOMA ได้ร่วมมือกับบริษัท Yahoo , AEON Kyushu และบริการ (EC) “PayPay Dash” ให้บริการส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ เช่น อาหารกล่องเบนโต, ขนมปัง, เครื่องดื่มและขนมหวาน ผ่านการใช้แอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน ภายใน 30 นาที โดยเป็นโมเดลไฮบริดของร้านค้าแบบมีหน้าร้านและ EC โดยในอนาคตมีแผนนำการวิเคราะห์ข้อมูลการจัดส่งโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง เพื่อเพิ่มขยายประเภทของผลิตภัณฑ์ที่รองรับและตั้งเป้าส่งมอบอย่างรวดเร็วภายใน 20 นาที หลังจากการสั่งซื้อ อีกทั้งบริษัท LOMA ยังเปิดรับช่องทางการสั่งสินค้าผ่านทางโทรศัพท์ และ Fax เพื่อรองรับการสั่งซื้อจากกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่สันทัดในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีอีกทางหนึ่งด้วย นับเป็นระบบขนส่งโลจิสติกส์อัจฉริยะที่อำนวยความสะดวกและคำนึงถึงผู้บริโภคทุกวัยอย่างรอบครอบ และเป็นโมเดลไฮบริดที่น่าสนใจที่ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลและนำมาประยุกต์ใช้กับระบบของตนเพื่อรองรับและสนองความต้องการของผู้บริโภคในอนาคตได้เป็นอย่างดี


สหรัฐอเมริกา

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครไมอามี่
COVID-19 ส่งผลให้นักดื่มหันกลับมาดื่มเบียร์มากขึ้น

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จากรายงานการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่ำลงเป็นอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกและการคาดการณ์ว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาสต่อ ๆ ไป สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคต่อสินค้าเบียร์และสินค้าอื่น ๆ เป็นอย่างมาก มาตรการล็อกดาวน์ในแต่ละรัฐทำให้ร้านอาหาร บาร์ ไนท์คลับและสถานบันเทิงจำเป็นต้องงดบริการชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเบียร์ขนาดเล็กหรือผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตเบียร์ในสหรัฐ (Brewers Association) ต่อกิจการคราฟต์เบียร์ที่ปิดตัว ลงเป็นจำนวนมากในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ ชี้ให้เห็นสถานการณ์และวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องลดรายจ่ายและเลือกซื้อสินค้าในราคาประหยัดนักดื่มที่นิยมบริโภคคราฟต์เบียร์ที่จัดว่ามีราคาสูงกว่าเบียร์ในตลาดกระแสหลักนั้นจึงจำเป็นต้องหันกลับมาเลือกซื้อเบียร์ราคาประหยัดมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการรายย่อยที่ชี้ให้เห็นถึงโอกาสการเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น โดยถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง