ชาว LGBT เป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีทั้งกลุ่มรักร่วมเพศหญิง (Lesbian) กลุ่มรักร่วมเพศชาย (Gay) กลุ่มคนที่รักได้ทั้งสองเพศ (Bi-sexual) และกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) ปัจจุบันมีชาว LGBT ทั่วโลกมากกว่า 400 ล้านคน และคาดว่าจะสร้าง GDP ได้มากถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (105 ล้านล้านบาท) หรือเกือบเท่ากับมูลค่า GDP ของประเทศเยอรมนีเลยทีเดียว
สีสันและความหลากหลายแต่เปี่ยมไปด้วยพลังและชีวิตชีวาของชาว LGBT สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนใน “ธงสีรุ้ง” ที่ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์สากลของกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2521 ซึ่งเดิมทีมี 8 แถบ คือ สีชมพูตัวแทนรสนิยมทางเพศ (Sexuality) สีแดงแสดงถึงชีวิต (Life) สีส้มสื่อถึงการรักษาเยียวยา (Healing) สีเหลืองคือพระอาทิตย์ (The Sun) สีเขียวตัวแทนของธรรมชาติ (Natural) สีฟ้าแสดงถึงศิลปะ (Art) สีครามหมายถึงความสามัคคี (Harmony) และสีม่วงสื่อถึงจิตวิญญาณ (Spirit) ซึ่งสีบนธงได้ถูกปรับเปลี่ยน จนปัจจุบันเหลือ 6 แถบคือ แดง ส้ม เหลือง เขียว น้ำเงิน และม่วง
แม้จะไม่ได้เป็นผู้บริโภคที่มีจำนวนมากแต่คุณภาพคับแก้วแน่นอน ด้วยกำลังซื้อมหาศาลทำให้ชาว LGBT เป็นเป้าหมายที่ได้รับความสนใจจากบรรดาธุรกิจทุกกลุ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น ชาวสีรุ้งมีสัดส่วนเพียง 7% ของประชากรสหรัฐ หรือประมาณ 16 ล้านคน แต่มีกำลังซื้อรวมกันสูงถึง 9.17 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (32 ล้านล้านบาท) ในปี 2558
ส่วนฝั่งของเอเชียอย่างจีนคาดว่ามีผู้บริโภคกลุ่มนี้ ราว 70 ล้านคน มีมูลค่าตลาดรวม 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (10.5 ล้านล้านบาท) และญี่ปุ่นมีชาวสีรุ้งประมาณ 6.3 ล้านคน หรือ 5% ของประชากรทั้งหมด มูลค่าตลาด LGBT ประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (1.7 ล้านล้านบาท) ด้วยความมุ่งมั่นสูงกว่าคนทั่วไป ชาวสีรุ้งพยายามผลักดันตัวเองให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีรายได้สูงและเป็นที่ยอมรับในสังคมชาว LGBT ส่วนใหญ่ไม่มีลูกทำให้มีเวลาเหลือเฟือและมีเงินทองในการจับจ่ายใช้สอยมากกว่าครอบครัวชาย-หญิงทั่วไป เคยมีการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้พบว่าเป็นคนที่มีความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผู้บริโภคกลุ่มอื่นจึงไม่น่าแปลกใจที่ตอนนี้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยหันมารุกจับตลาดกลุ่ม LGBT กันอย่างคึกคัก เพราะนี่เป็นลูกค้าชั้นดี มีรสนิยมการเลือกซื้อสินค้าและบริการหวือหวา กล้าซื้อของใช้ราคาแพงกว่าใคร ๆ
ผู้บริโภคกลุ่ม LGBT ชื่นชอบการใช้จ่ายซื้อสินค้าและให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ว่าใช้แล้วต้องดูดีเพื่อทำให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับในสังคม ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ลูกค้ากลุ่มนี้จะนิยมใช้ของแพงคุณภาพระดับพรีเมียม DITP ได้รวบรวมข้อมูลผู้บริโภค LGBT ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ชาวสีรุ้งมักจะใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับความบันเทิง ความสวยงาม สัตว์เลี้ยง และเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย ส่วนชาว LGBT ในแคนาดาจะมีการศึกษาสูง นิยมท่องเที่ยวบ่อยและนานกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่น โปรดปรานสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เลือกซื้อแบรนด์ที่บริษัทมีการสื่อสารโดยตรงกับกลุ่ม LGBT หรือสนับสนุนชุมชนชาวสีรุ้ง
สำหรับสินค้าไทยที่เหมาะจะตีตลาดชาว LGBT ก็มีหลายกลุ่มด้วยกัน ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของขวัญ ของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน และอาหารและของใชสำหรับสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงบริการ เช่น ท่องเที่ยว การจัดงานแต่งงาน
เห็นอำนาจซื้อของชาว LGBT แบบนี้แล้วต้องย้ำว่านี่คือตลาดสีรุ้งมากสีสันสุดสดใสที่ผู้ประกอบการไทยต้องเกาะให้แน่น ห้ามพลาด !
ควักหัวใจชาวสีรุ้ง
26% พร้อมจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าราคาแพง คุณภาพสูงเกรดพรีเมียม
70% ชอบซื้อสินค้าคุณภาพพรีเมียมจากธุรกิจหรือแบรนด์สินค้าที่สนับสนุนกลุ่ม LGBT
78% ของเพื่อนหรือญาติของชาวสีรุ้งตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับชาว LGBT
8 คำ – กลุ่มคำต้องห้ามที่ LGBT ไม่ปลื้ม
1. Gay Lifestyle
2. Sexual Preference หรือ Preference
3. Choice, Choose หรือ Choose to be gay
4. Homosexual
5. Alternative
6. Tolerance
7. Special Right
8. Friend
ที่มา: รายงานพฤติกรรมกลุ่มผู้บริโภคที่มีความหลากหลายทางเพศ จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี