โลกยุคดิจิทัลได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าและการดำเนินธุรกิจให้ก้าวไกลอย่างไร้พรมแดน การค้าออนไลน์หรือ E-Commerce จึงเป็นอีกช่องทางในการดำเนินธุรกิจที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยขนาดของตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีพลังขับเคลื่อนมหาศาล ประกอบกับความรวดเร็วในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคอย่างทันท่วงที ทำให้กลายเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทันท่วงทีในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
การคาดการณ์ในอนาคตของธุรกิจ E-Commerce
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจากปี 2560 ตลาด B2C E-Commerce ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 214,000 ล้านบาทนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 470,000 ล้านบาทในปี 2565 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 17 ต่อปี เรียกว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างโดดเด่น โดยทุกวันนี้ช่องทาง Social E-Commerce อาทิ Facebook หรือ Line เป็นช่องทางหลักในการขับเคลื่อนตลาด E-Commerce ของไทยอยู่ แต่คาดว่าในระยะข้างหน้าด้วยแรงกดดันหลายปัจจัย อาทิ การแข่งขันและแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของผู้ค้ารายใหญ่รุนแรงขึ้น บวกกับภาครัฐได้มีการดึงกลุ่มผู้ประกอบการ Social Commerce เข้าสู่ระบบ ทำให้การขายสินค้าออนไลน์จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
โอกาส E-Commerce ไทยบุกไปตลาดต่างประเทศ
หากวิเคราะห์จากจุดแข็งของประเทศไทยซึ่งเป็นสถานที่น่าท่องเที่ยวติดอันดับ 4 ของโลกและสินค้าท้องถิ่นก็เป็นที่ชื่นชอบของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามที่นิยมสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย เช่น เครื่องสำอาง และสินค้าเกี่ยวกับเด็ก อินโดนีเซียนิยมอาหารกินเล่น (Snack) ส่วนอินเดียนิยมสินค้าประเภทเครื่องปรุงรส เครื่องสำอาง รวมถึงประเทศจีนก็ชื่นชอบสินค้าจำพวกเครื่องสำอางด้วยเช่นกัน และยังมีสมุนไพร เสื้อผ้า กระเป๋า ฯลฯ โดยจีนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ธุรกิจ E-Commerce เติบโตอย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จึงกลายเป็นประเทศที่ใครก็อยากเข้าไปค้าขายด้วย ซึ่งภาพลักษณ์ของสินค้าไทยในสายตาจีนเป็นสินค้าที่ดีและมีคุณภาพสูง โดยผู้ที่สนใจบุกตลาดจีนจะต้องศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของจีนอย่างละเอียด เช่น มาตรการด้านภาษี ขั้นตอนการจดทะเบียน หรือการขอ อย. กฎระเบียบอื่น ๆ และต้องหมั่นสอดส่องความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
รัฐขับเคลื่อน E-Commerce ดันผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดทั่วโลก
เพราะเล็งเห็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าทางการค้า ได้นำไปสู่บทบาทของกระทรวงพาณิชย์ด้านการขับเคลื่อนการค้าในรูปแบบใหม่ใน 2 ภารกิจหลักคือ
• การเป็นผู้นำในการพัฒนาการค้ารูปแบบ E-Commerce ผ่านการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ โดยความร่วมมือกับทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้าง E-Commerce Ecosystem ของประเทศ
• การสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์กลางออนไลน์ของประเทศเพื่อให้ไทยเป็น National E-Marketplace สร้างโอกาสทางการค้าแก่ผู้ประกอบการไทยผ่าน Thaitrade.com แพลตฟอร์มของประเทศที่ช่วยเชื่อมผู้ขายไทยกับผู้ซื้อทั่วโลก ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันได้ทำให้เกิดการจับคู่ธุรกิจมาแล้วกว่า 7,000 คู่ และสามารถสร้างมูลค่าซื้อขายรวมได้ถึง 5,555 ล้านบาท
นอกจากนี้ DITP ยังได้พัฒนาฟังก์ชั่นบนเว็บไซต์เพื่อยกระดับคุณภาพของการบริการอย่าง E-Quotation และ E-Business Matching เพื่อให้ผู้ซื้อ-ผู้ขาย สามารถทำการค้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเร่งเจาะกลุ่มผู้นำเข้าต่างชาติในประเทศที่มีศักยภาพอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการพัฒนาด้าน Digital Economy ซึ่ง DITP ได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEW Economy Academy: NEA) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถใช้ช่องทางออนไลน์ในการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5G ฝันที่จะเป็นจริง ซัพพอร์ท E-Commerce ไทยให้ไปต่อได้
5G หรือ Generation 5 หรือรุ่นที่ 5 ของการสื่อสารที่อนาคตจะไม่ใช่ขึ้นอยู่เพียงแค่มือถือ แต่จะรวมถึงอุปกรณ์ทุกชนิดที่เชื่อมอินเตอร์ได้ (Internet of Things หรือ IoT) หากเรามี 5G เมื่อไร ก็จะดาวน์โหลดวิดีโอ หนัง หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้เร็วถึง 10,000 Mbps เทียบให้เข้าใจได้ง่าย คือ ถ้าใช้ 4G ดูวิดีโอออนไลน์ขนาด 8K หรือดาวน์โหลดหนังต้องใช้เวลา 6 นาที แต่สำหรับ 5G ใช้เวลาแค่ 6 วินาทีเท่านั้น เพราะฉะนั้น 5G จะทำให้เกิดนวัตกรรม อีกมากมายที่สนับสนุนคุณภาพชีวิต เช่น การสาธารณสุขทางไกล การผ่าตัดจากระยะไกล หุ่นยนต์ในโรงงาน การสำรวจภาคสนามและนำไปสู่ระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) ในอนาคตรวมถึง การพัฒนาศักยภาพของระบบค้าปลีก การซื้อของออนไลน์และเป็นตัวช่วยขับเคลื่อน E-Commerce ไทยลงสนามแข่งขันและเติบโตได้อีกไกลในตลาดโลก