Creative Economy หมายถึงสินค้าหรือบริการ ซึ่งมีการใส่ความคิดสร้างสรรค์ในบริบทของวัฒนธรรม สังคม ชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมนั้น ๆ อย่างเช่นการเผยแพร่เรื่องอาหารผ่านละคร ภาพยนตร์ของประเทศเกาหลี หรือการเน้นเรื่อง Blue Ocean ของมาเลเซียกับนโยบาย Creative Economy ซึ่งหากพิจารณาแล้ว ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของอุตสาหกรรมความบันเทิงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังรวมถึงเรื่องของการผลิตและการบริการทางวัฒนธรรม และการออกแบบสินค้าที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงในชิ้นงานอีกด้วย
การขับเคลื่อนนี้ทําให้มีการเพิ่มมูลค่าในสินค้าหรือบริการต่าง ๆ สูงขึ้น จากศักยภาพของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศพบว่า มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ปี 2557 มีมูลค่าสูงถึง 1.61 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยมีจํานวนผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 359,515 ราย จํานวนการจ้างงานอาชีพสร้างสรรค์ 860,654 คน และในด้านสถิติทางทรัพย์สินทางปัญญาพบว่า ในปี 2558 มีจํานวนการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของคนไทย 2,090 ครั้ง
เนื่องด้วยสภาวะของสังคมสมัยใหม่นี้การตัดสินใจซื้อขายของลูกค้าจะอยู่ที่ความสุขทางใจมากกว่าลักษณะทางกายภาพของสินค้าและคุณภาพสินค้า Creative Economy จึงมีความสําคัญมากที่จะทําให้ประเทศนั้นก้าวไปข้างหน้า แต่สิ่งที่จะทําให้ระบบนี้ประสบความสําเร็จนั้นจําเป็นต้องให้ภาครัฐช่วยในการสร้างบรรยากาศ หรือสิ่งอํานวยความสะดวกให้บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ ได้ใช้เป็นพื้นที่หรือแรงบันดาลใจที่จะผลิตผลงานต่าง ๆ ขึ้นมา
การสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) ให้กับสินค้าและบริการของไทยจึงเป็นสิ่งที่ต้องนํามาใช้ยกระดับความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เดิมสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เพื่อให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เติบโตไปพร้อมกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น เช่น ดิจิทัลเทคโนโลยี ของกลุ่ม Startup
ทางด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็เช่นเดียวกัน มีการขยายตลาดภาพยนตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยการเข้าร่วมกับกลุ่มทุนของจีน ในนามของ Legendary Picture แสดงให้เห็นว่าจีนเป็นตลาดใหญ่ที่ต้องให้ความสําคัญ ซึ่งวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยได้มีการปรับตัวสร้างคอนเทนต์รูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น มีการทํา Business Matching ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับนักลงทุน ผู้ผลิต ผู้สร้าง ผู้กํากับ อย่างเช่นงาน FILMART 2018 และงาน Cannes Film Festival 2018 เกิดการลงทุน ซื้อขาย ร่วมผลิตระหว่างประเทศ การรับจ้างผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจบันเทิงไทยในตลาดโลก อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับการเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านสื่อบันเทิงของประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และอินเดียมาก่อนหน้านี้
ทั้งหมดนี้ เป็นแนวคิดที่สําคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นแรงผลักดัน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้แก่คนในประเทศ ซึ่งเรียกว่า Creative Economy นั่นเอง
หรือแม้แต่การบรรจุกีฬา E-Sports เป็นกีฬาสาธิตในการแข่งขัน Asian Games 2018 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นที่พูดถึงอย่างมาก แสดงถึงการยอมรับว่าเกมเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของกีฬา โดยในปี 2560 รายได้รวมของวงการ E-Sports ทั่วโลก มีมูลค่า 20,960 ล้านบาท และคาดการณ์ไว้ในปี 2020 จะมีมูลค่ากว่า 47,620 ล้านบาท
นับว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ประเทศไทยจะเร่งค้นคว้าถึงยุทธศาสตร์นี้ พร้อมทั้งยกระดับวิธีคิดเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทแบบใหม่ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนําเอาอัตลักษณ์ของไทยผสมผสานผ่านสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า และครองใจตลาดทั่วโลก