ขณะที่มีประชากรทั่วโลกต้องเผชิญความหิวโหยถึง 870 ล้านคน โดยแต่ละปีชาวโลกกินทิ้งกินขว้างอาหารคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 31 ล้านล้านบาท และขยะอาหารก่อเกิดก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศโลกหรือทำให้โลกร้อนขึ้นมากเฉลี่ยปีละ 3,300 ล้านตัน
นอกจากนี้ยังมีวิกฤตจากการสูญเสียอาหาร (Food Loss) ที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่การผลิต ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการในภาคการผลิตโดยตรง ก่อให้เกิดขยะอาหารเป็นจำนวนมากเกิดจากการที่มีเงื่อนไขด้านมาตรฐานอาหารที่สูงเกินไปทำให้ต้องมีการคัดเลือกและทิ้งส่วนที่ไม่ต้องการเป็นจำนวนมาก บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตต่างทำสัญญาผูกขาดกับเกษตรกรโดยกำหนดรับซื้อเฉพาะพืช ผัก ผลไม้ ที่มีขนาดและรูปทรงสวยงาม ทำให้เกษตรกรต้องนำผลผลิตที่ไม่เข้าเกณฑ์ไปฝังกลบทิ้ง เนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตห้ามไม่ให้นำผลผลิตเหล่านั้นไปขายในราคาถูกให้กับผู้ซื้อรายอื่น
ในปัจจุบันธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับการนำผลผลิตที่กำลังจะกลายเป็นขยะจากเกษตรกรมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก เพราะการนำผลผลิตเหลือทิ้งเหล่านี้มาผ่านกระบวนการ Upcycle ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้มากขึ้น โดยจากกระแสการรักษ์โลกกำลังมาแรง ทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มว่าจะซื้อสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้น เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาอาหารขยะเหลือทิ้งได้และยังทำให้ผู้บริโภครู้สึกตื่นตัวกับปัญหาและหันมาช่วยกันลดขยะอาหารจากครัวเรือนมากขึ้นด้วย ดังนั้น ธุรกิจนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่กำลังมองหาธุรกิจใหม่ที่กำลังมาแรงในช่วงปีนี้ นอกจากจะช่วยโลกได้แล้วยังสามารถสร้างกำไรได้อีกด้วย