สหรัฐอเมริกา
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก
สหรัฐฯ อาจจะไม่ต้องใช้กฎหมายการผลิตในยามศึกสงครามมาต่อสู้โควิด19
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งของผู้บริหารให้รัฐบาลสามารถนำกฎหมายการผลิตในยามศึกสงคราม (Defense Production Act: DPA) เพื่อใช้อำนาจภายใต้กฎหมายดังกล่าวสั่งผลิตสินค้าหรือบริหารลำดับความสำคัญของสินค้าที่ต้องผลิตเมื่อเกิดภาวะขาดแคลน และยังให้อำนาจทำสัญญาโดยสมัครใจกับบริษัทเอกชน ยับยั้งการควบรวมกิจการและสร้างเครือข่ายอาสาสมัครที่เป็นนักบริหารจากภาคเอกชน เพื่อใช้แก้ปัญหาการเพิ่มการผลิตปัจจัยเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาด COVID-19 ในสหรัฐอเมริกา แต่อย่างไรก็ตามสินค้าก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการโดยเฉพาะในส่วนของผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มาจากยางพารา เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น ซึ่งไทยเป็นอีกแผล่งผลิตที่สำคัญในระดับต้น ๆ ของโลกอยู่แล้วจึงทำให้เป็นโอกาสทางการค้าที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถเข้าไปแทรกแซงส่วนแบ่งทางการตลาดดังกล่าว
สาธารณรัฐประชาชนจีน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิงต่าว
แนวโน้มธุรกิจอีคอมเมิร์ซของสดหลังวิกฤต COVID – 19
สภาพสังคมเศรษฐกิจที่มีความเร่งด่วนทำให้พฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงความเร่งรีบและการใช้เวลาอย่างจำกัดทำให้การค้าอีคอมเมิร์ซของสดในจีนเข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงเหตุการณ์การระบาดของไวรัส COVID – 19 ยังส่งผลให้ชาวจีนหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านและมีความต้องการไม่สัมผัสระหว่างกันจึงทำให้โอกาสของอีคอมเมิร์ซของสดจึงกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ซึ่งถึงแม้ว่าช่วงก่อนหน้านี้สถานการณ์การบริโภคของจีนจะหดตัวลงมาก แต่มีการคาดการณ์ว่าหลังเหตุการณ์การระบาดของไวรัสฯ สงบลง ประกอบกับมาตรการการเร่งฟื้นฟูชีวิตประจำวันของประชาชนให้กลับมาเหมือนเดิมของภาครัฐจะช่วยให้สถานการณ์ความตึงเครียดต่าง ๆ คลี่คลายลง ดังนั้น ผู้ประกอบการอาหารสดของไทยจึงควรใช้ช่วงระยะเวลานี้ในการเตรียมความพร้อมเพื่อขยายตลาดของสดเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซของจีน
สาธารณรัฐฝรั่งเศส
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส
ชาวฝรั่งเศสหันมาจับจ่ายใช้สอยทางออนไลน์มากขึ้น ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19
มาตรการยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รัฐประกาศใช้บังคับให้ผู้บริโภคต้องลดการเดินทางลง ทั้งยังต้องเพิ่มความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายหรือการสัมผัสต่อเชื้อโรคได้ส่งผลให้ลักษณะพฤติกรรมการบริโภคของผู้ซื้อเปลี่ยนไป โดยชาวฝรั่งเศสหันมาจับจ่ายสินค้าจากช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งแบบสั่งซื้อทางออนไลน์และไปรับสินค้าที่สั่งซื้อด้วยตนเอง และแบบสั่งให้ส่งถึงบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ผักและผลไม้สด เนื้อสัตว์ พาสต้า อาหารแห้ง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และกระดาษชำระ เป็นต้น ที่กลับมียอดจำหน่ายสูงขึ้นเนื่องจากประชาชนจับจ่ายสินค้าแต่ละชนิดเป็นปริมาณมากกว่าปกติ เพื่อให้มีสำรองไว้ใช้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรปรับตัวมุ่งสู่การทำการตลาดทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น และคาดว่าหลังจากสถานการณ์โควิดแพร่ระบาดคลี่คลายลง พฤติกรรมของผู้บริโภคจะยังคงมีแนวโน้มที่จะบริโภคสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น ผู้ซึ่งประกอบการไทยจึงควรให้ความสำคัญและสร้างแพลตฟอร์มทางการค้าออนไลน์เป็นสำคัญ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ
COVID – 19 ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อออนไลน์ในยูเออีพุ่งสูงขึ้น
การแพร่ระบาด COVID-19 ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจสินค้าและบริการอย่างหนักและกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่ ภาคประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสินค้าได้ด้วยตัวเอง ธุรกิจที่เข้าหาลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์กลับเฟื่องฟูสวนทางกับกระแสธุรกิจส่วนใหญ่ของโลกโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ซึ่งคาดว่าหลังจากเหตุการแพร่ระบาดสงบลงจะส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคซึ่งอาจเคยชินและหันมาใช้ชีวิตแบบดิจิทัลมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวและมุ่งสู่การค้าทางตลาดออนไลน์เพื่อปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มของตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการค้าทางออนไลน์นั้นยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถทำให้เราสามารถเข้าถึงผู้ซื้อและขยายตลาดได้มากขึ้นอีกด้วย จึงนับเป็นผลกระทบในแง่บวกหลังจากเหตุการณ์วิกฤติดังกล่าว
สหพันธรัฐรัสเซีย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโคว
ธุรกิจเกือบร้อยละ 40 ปิดกิจการชั่วคราว
ผลกระทบทางการค้าและเศรษฐกิจจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 เป็นสิ่งที่ยากจะประเมินและคาดการณ์ อีกทั้งยังไม่ทราบว่าปัญหานี้จะยืดเยื้อยาวนานไปอีกเพียงใดเป็นที่แน่ชัดว่าธุรกิจร้านค้าโดยทั่วไปไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เป็นปกติหรือต้องเผชิญกับข้อจำกัดอีกมากมายหลายประการ สินค้าที่เป็นที่ต้องการในยามนี้ก็หนีไม่พ้นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ จึงทำให้สินค้าส่งออกของไทยในตลาดรัสเซียที่ยังมีโอกาสดีก็คือ สินค้าอาหารสำเร็จรูป ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องต่าง ๆ โดยสินค้าของไทยเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพ รสชาติ และราคาที่ไม่แพง จึงทำให้สามารถส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวได้ง่ายและเป็นที่สนใจมากกว่าตลาดคู่แข่ง ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งหาช่องทางและเตรียมกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งคาดว่าไม่เพียงแต่ตลาดรัสเซียเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายสู่ตลาดอื่น ๆ ได้ทั่วโลก
สาธารณรัฐอินเดีย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ
อินเดียปิดน่านฟ้ากระทบธุรกิจส่งออก
การปิดน่านฟ้าทำให้อินเดียเสียโอกาสในการส่งออกอาหารหลายรายการ อาทิ ขมิ้น ขิง ในประเทศไนจีเรีย อินโดนีเซีย และข้าว พริก กระเทียมสดและแห้ง เมล็ด งาและน้ำมันงา ข้าวสาลี และถั่วพัลส์ โดยสินค้าดังกล่าวมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นไม่ต่ำว่า 10 – 15% ในตลาดอียิปต์ อิสราเอล ปาเลสไตน์ สหรัฐและยุโรป ซึ่งเกิดจากความต้องการกักตุนอาหาร ซึ่งเปิดโอกาสส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการไทยซึ่งมีสินค้าที่คล้ายคลึงกัน แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกไปตลาดเหล่านี้แทนอินเดียก็ไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งในด้านราคาและอุปสรรคด้านการขนส่งรวมถึงข้อจำกัดด้านต่าง ๆ ผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษาเส้นทางและช่องทางการส่งออกดังกล่าวให้ดีเพื่อการทำการตลาดที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้อาจนับเป็นโอกาสดีๆ ที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงผู้ซื้อรายใหม่ ๆ และอาจกลับมาอย่างยิ่งใหญ่กว่าเดิม