จากวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า(Covid-19) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์และร่วมพิจารณามาตรการแก้ไขอุปสรรคในสินค้าและบริการ 7 กลุ่ม คือ 1. อาหารสำเร็จรูป, 2. ข้าว, 3. ปศุสัตว์, 4. ผลไม้, 5. วัตถุดิบอาหารสัตว์, 6. เวชภัณฑ์ และ 7. โลจิสติกส์
โดยกรมร่วมกับกรมการค้าภายในเป็นแกนในส่วนสินค้าผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการฝ่าวิกฤตดังกล่าว โดยที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ 5 ด้าน คือ 1. มาตรการด้านการผลิต, 2. ด้านตลาดในประเทศ, 3. ด้านเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ, 4. ด้านคุณภาพมาตรฐาน และ 5. ด้านตลาดต่างประเทศ
และได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแนวทางการบริหารจัดการการขนส่งผลไม้ในการบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้สามารถกระจายผลผลิตไปได้ทั่วประเทศและนอกประเทศได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังผนึกกำลังกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สำคัญของประเทศ ร่วมกันจัดเทศกาล Thai Fruits Golden Months “ไทยช่วยไทย ชาวสวนอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” ช่วงระหว่างวันที่ 1 พ.ค. – 30 มิ.ย. 63 เพื่อจำหน่ายสินค้าผลไม้คุณภาพดี เกรดส่งออก ที่มีผลผลิตเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาดังกล่าว
แม้ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า(Covid-19) ไทยยังมีโอกาสดีด้านการส่งออก โดยสินค้าที่มีโอกาสในการส่งออกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่
ข้าวหอมมะลิและข้าวหอมไทย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความต้องการนำเข้าข้าวในลักษณะคำสั่งซื้อล่วงหน้าในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น
สินค้าอาหาร โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป/พร้อมรับประทาน ซึ่งมีความต้องการและยอดสั่งซื้อสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นในเกือบทุกประเภท
สินค้าประเภทวัตถุดิบ เช่น ผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ที่สามารถส่งออกไปยังประเทศฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เวียดนาม เมียนมา บังคลาเทศ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และอินเดีย เพื่อทดแทนการนำเข้าจากแหล่งเดิม
อุปกรณ์/เครื่องมือที่ใช้ในทางการแพทย์/สินค้าเพื่อสุขอนามัย เช่น ถุงมือยางแบบบางสำหรับแพ็คสินค้าบรรจุภัณฑ์/กล่องอาหารสำหรับ Food Delivery น้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น
สินค้าที่ตอบสนองการใช้ชีวิตภายในบ้าน เช่น เครื่องเล่นเกม สื่อออนไลน์เพื่อความบันเทิงภายในที่พัก (เกม ละคร ภาพยนตร์ไทย การ์ตูนแอนิเมชั่น) และอุปกรณ์สำหรับออกกำลังกายในบ้าน เป็นต้น
โดยกรมได้ส่งเสริมด้วยการปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมต่างๆ จากออฟไลน์เป็นผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น กิจกรรม On-line Business Matching ระหว่างผู้นำเข้าในต่างประเทศกับผู้ส่งออก TOP Thai Flagship Store เปิดร้านขายสินค้าแบรนด์ไทยบนแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำในต่างประเทศ
การจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบออนไลน์แบบเสมือนจริง คือ
1. Food International Virtual Exhibition (F.I.V.E) จำนวน 4 ครั้ง ตั้งแต่เดือน พ.ค. – ส.ค. 63 โดยมีสินค้าเป้าหมาย คือ ผลไม้สดและแปรรูป กล้วยไม้, อาหารฮาลาลและออร์แกนิก, เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว, อาหารทะเลและอาหารแช่แข็ง
2. Multimedia Online Virtual Exhibition (M.O.V.E.) สำหรับธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ ระหว่างวันที่ 25 – 27 พ.ค. 63
3. Lifestyle Online Virtual Exhibition (L.O.V.E) สำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์และของใช้ในบ้านในเดือน ก.ค. 63 โดยจะเชิญผู้ซื้อจากประเทศต่างๆ เยี่ยมชมงานและเจรจาธุรกิจทางออนไลน์ รวมถึงการปรับโฉมรูปแบบการจัดโครงการฝึกอบรมและสัมมนาต่างๆ ของสถาบัน NEA ที่เคยจัดขึ้นในรูปแบบห้องเรียน (Offline) ให้มีรูปแบบสัมมนาออนไลน์ (Online) โดยใช้ระบบ Facebook Live และระบบ Webinar เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น จำนวนมากขึ้น โดยไม่ต้องเดินทาง
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ดำเนินการวางแผนการสนับสนุนผู้ส่งออกเพื่อให้สามารถเดินหน้าดำเนินธุรกิจได้ทันที เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า(Covid-19) ดีขึ้น โดยกรมได้ร่วมประชุมหารือเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังผ่านพ้นวิกฤตกับหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สรุปดังนี้
กลุ่มอาหารสำเร็จรูป เห็นชอบ 10 มาตรการ ดังนี้
1. ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศไทยในตลาดโลก
2. จัดประชุมออนไลน์ระหว่างทูตพาณิชย์กับภาคเอกชนในภาคส่วนต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
3. กำหนดแผนงานร่วมกันในการทำแผนเปิดตลาดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปและอาหารแปรรูป (อาเซียน เอเชียตะวันออกกลาง รัสเซียและ CIS)
4. เร่งรัดในการเจรจาจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร
5. จัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพในการเป็นช่องทางระบายสินค้าด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรรวมทั้งผู้ผลิตแปรรูปและผู้ส่งออก
6. เร่งแก้ไขปัญหาการขนส่งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปทั้งทางบก เรือ และอากาศ โดยเฉพาะการขนส่งทางบกผ่านเวียดนามและสปป.ลาวสู่จีนตอนใต้ และไปมาเลเซีย
7. ใช้กลไกเกษตรพันธสัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจ
8. ส่งเสริมการบริโภคน้ำผลไม้ 100% ของไทย
9. ร่วมมือกับภาคเอกชนในการใช้ห้องเย็นที่มีอยู่ 600 กว่าแห่งในประเทศไทยให้เป็นประโยชน์ในการชะลอพืชผลทางการเกษตรสำคัญที่จะออกสู่ตลาด
10. มอบหมายทูตพาณิชย์เร่งเจรจาเพื่อคลี่คลายปัญหาการส่งออกสับปะรดกระป๋องและข้าวโพดหวานกระป๋องไปออสเตรเลีย
กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เห็นชอบ 4 มาตรการ ดังนี้
1. ลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะรูปแบบกระป๋อง
2. เร่งการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร แอฟริกา และกลุ่มประเทศยูเรเซีย
3. จัดทำแผนส่งเสริมขยายส่วนแบ่งตลาดใน 4 ตลาด คือ จีน รัสเซีย แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้
4. ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์อาหารไทยเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยในสินค้าอาหารจากประเทศไทย รวมถึงกรมได้เตรียมความพร้อมจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทย อาทิ
– Thailand International Auto Parts & Accessories (ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์) 3 – 6 ก.ย. 63
– Bangkok Gems and Jewelry Fair (เครื่องประดับ) วันที่ 7 – 11 ก.ย. 63
– THAIFEX – ANUGA ASIA 2020 (สินค้าอาหาร) วันที่ 22 – 26 ก.ย. 63
– STYLE Bangkok October 2020 (ของใช้ในบ้าน สินค้าไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์ ของขวัญ) วันที่ 21 – 25 ต.ค. 63 อีกด้วย
และเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19ทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าและวิถีชีวิตของผุ้บริโภคทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปโดยการซื้อสินค้าทางออนไลน์กลายเป็นทางเลือกหลัก ผู้ประกอบการและผู้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์จึงได้นำกลยุทธ์ใหม่ๆ มาใช้ในการขาย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีน ซึ่งช่องทางการขายใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคในประเทศจีน ได้แก่
1. การขายผ่านการถ่ายทอดสด (Live Stream),
2. แพลตฟอร์มประชาสัมพันธ์ข้อมูล เช่น TikTok และ Xiaohongshu และ
3. แพลตฟอร์มสื่อสารในสังคม เช่น Wechat และ Weibo โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสในการขยายตลาดเข้าสู่ตลาดจีนทางออนไลน์ ได้แก่ สินค้าอาหาร เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน/ ภาพยนตร์/ละคร/เกมส์ อุปกรณ์ออกกำลังกาย และอุปกรณ์การเรียนของนักเรียน/นักศึกษา
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงการระบาดของโควิด-19 คือ กลุ่มผู้สูงอายุชาวจีนที่มีมากกว่า 249 ล้านคน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากที่สุดไม่สามารถออกมาทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ ได้หันมาเรียนรู้การใช้บริการและสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะการศึกษาและการเรียนรู้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต การลงทุนทางการเงินออนไลน์ การปรึกษาปัญหาสุขภาพออนไลน์ เป็นต้น จึงเป็นโอกาสของไทยในการขยายสินค้าและบริการในกลุ่ม 60+ เข้าสู่ตลาดจีน
และอีกทั้งจากการจัดอันดับ “กลุ่มสินค้าซุปเปอร์สตาร์ในปี 2020” ของแพลตฟอร์ม Tmall Global ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Cross-border E-commerce ที่มียอดขายอันดับ 1 ในจีน สินค้าที่ถูกจัดให้เป็นซุปเปอร์สตาร์ คือ กลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ และกลุ่มสินค้าแม่และเด็ก จึงเป็นอีก 3 กลุ่มสินค้าที่เป็นโอกาสของไทยในการขยายสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน การเตรียมความพร้อมเพื่อรอสถานการณ์ส่งออกเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ประกอบการควรติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า(Covid-19) อย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือได้ทันถ่วงทีและอาจเห็นช่องทางที่จะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับสินค้าของตนได้ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดทำช่องทางสำหรับการติดตามข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งช่องทางเว็บไซต์ของกรม “www.ditp.go.th” และช่องทาง“DITP Touch” ทั้งในรูปแบบแอปพลิเคชั่นและเว็บไชด์ www.ditptouch.com
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรพัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างความพร้อมสู่การทำตลาด ซึ่งสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้จัดทำระบบแพลตฟอร์ม “NEA E-Learning Universe” ภายใต้แนวคิด “ตั้งรับ ปรับตัว หาโอกาส” เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเรียนง่ายได้ทุกที่ ทั้งผ่านระบบ E-Learning ด้วยช่องทางเว็บไซต์ของ NEA ที่ www.nea.ditp.go.th ซึ่งมีหลากหลายหลักสูตร]ครอบคลุมตั้งแต่ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการส่งออก กลยุทธ์การค้ายุคใหม่ การแบ่งปันความรู้จากกูรูที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ จนถึงการเจาะลึกด้านการค้าเป็นรายประเทศในรูปแบบสัมมนาออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม Facebook Live และ Webinar Class เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้สะดวกและสอดคล้องกับมาตรการภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า(Covid-19) อีกด้วย