อนาคตของโลกการเงิน คริปโตเคอร์เรนซีอาจกลายเป็นทางเลือกในการเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยน ลองมาทำความรู้จักกับ Bitcoin คริปโตเคอร์เรนซีแรกของโลกกับ อาจารย์ ตั๊ม – พิริยะ สัมพันธารักษ์ นักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจคริปโตคนสำคัญของเมืองไทย
หากท่านผู้อ่านได้ติดตามข่าวสารทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน เชื่อว่าคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับเงินดิจิทัลสกุลใหม่ของโลกอย่าง บิตคอยน์ หรือ เงินคริปโต (Cryptocurrency) ผ่านตามาบ้างไม่มากก็น้อย บางคนกล่าวว่าสิ่งนี้คืออนาคต แต่บางคนก็บอกว่าเป็นมันคือสิ่งที่ไม่มีมูลค่าในตัวมันเองความเสี่ยงสูง มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อาจเพราะยังเป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ จึงยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งความผันผวนของราคาและความชัดเจนจากภาครัฐที่จะกำหนดนโยบายเข้ามากำกับดูแล
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคต เงินดิจิทัลหรือเงินคริปโต มีความเป็นไปได้ที่จะเข้ามามีบทบาทในโลกการค้าในอนาคต จากการที่ธนาคารและบริษัทระดับโลกหลายแห่งประกาศรับเงินคริปโต เราจึงควรทำการศึกษาถึงข้อมูลจากหลากหลายมุมมอง
อาจารย์ ตั๊ม – พิริยะ สัมพันธารักษ์ กรรมการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าที่อยู่ในการควบคุมดูแลของสำนักงานทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร และผู้จัดรายการ CDC Bitcoin Talk อันโด่งดังในโลกออนไลน์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องบิตคอยน์ (Bitcoin) คนสำคัญของเมืองไทย ที่มองว่าเงินคริปโตคืออนาคตของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก
แม้ว่าจะร่ำเรียนมาด้านสถาปัตยกรรรม แต่อาจารย์ตั๊ม เรียนรู้เศรษฐกิจและการลงทุนจากประสบการณ์จริงจนกลายเป็นกูรูที่ยอมรับกันกว้างขวางในวงการ เขาเชื่อในแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สาย Austrian School of economics สำนักคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่กำเนิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จากประเทศออสเตรีย ซึ่งหากจะเข้าใจความสำคัญของบิตคอยน์ จำเป็นต้องเข้าใจว่าเงินเฟียต หรือ เงินกระดาษ คืออะไร
เงินคริปโต คือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในรูปแบบดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการบันทึกข้อมูลและเข้ารหัส แต่สิ่งที่หลายคนสงสัยคือ มันแตกต่างจากเงินทั่วไปที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้อย่างไร อาจารย์ตั๊ม ให้คำตอบว่า “เงินคริปโต เป็นระบบการเงินไร้พรมแดน เปิดเสรี ใครก็สามารถเข้าถึงได้ ผู้คนสามารถที่จะใช้ เป็นเจ้าของ ส่งให้กัน รับแลกเปลี่ยน และใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง ทำให้ไม่สามารถมีใครสามารถเข้ามาแทรกแซง มาควบคุม มาสอดแนม หรือว่ามากำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้งานได้” อาจารย์ตั๊ม บอกว่าแม้คำตอบที่ได้ฟังดูดี แต่เขาก็ยอมรับว่าระบบเงินคริปโตไม่ได้สวยงามเสมอไป และหากจะเข้าใจเงินคริปโตให้ถ่องแท้ จำเป็นต้องเข้าใจกลไกของระบบเงินเฟียต (Fiat) หรือเงินตราที่เราใช้อยู่ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันและความแตกต่างกัน สกุลเงินคริปโตที่สำคัญที่สุดก็คือ บิตคอยน์
“คำว่า “fiat” แปลว่าการใช้กฎหมายกล่าวว่า บอกว่าสิ่งนี้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ทำให้คนต้องยอมรับว่าเป็นเงิน เพราะว่าตัวเงินเฟียตเองมันไม่มีค่า เป็นเพียงแค่ตัวเลข (บนกระดาษ หรือดิจิทัล) การเกิดขึ้นของเงินเฟียตเริ่มต้นจากเมื่อก่อนเรามีทองคำอยู่ในคลัง แล้วคลังสามารถผลิตตั๋วแลกเงินขึ้นมาเพื่อแลกทองคำ ตั๋วแลกเงินต่างๆ เหล่านี้เริ่มมี ‘มาตรฐาน’ (standard) กลายเป็นธนบัตร แต่เมื่อเวลาผ่านไปแม้กระทั่งทองคำก็ถูกยกออกไปจากการเป็น ‘เงินตราที่ใช้เป็นทุนสำรอง’
“ปัจจุบันในธนาคารกลางสหรัฐใช้ตราสารหนี้ต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล เป็นสินทรัพย์ในการผลิตเงิน สามารถสร้างเงินขึ้นมาเพื่อซื้อหนี้ต่างๆ เหล่านั้นให้เป็นสินทรัพย์ของธนาคารกลาง เงินเฟียตค่อยๆ แทรกเข้ามาในระบบทองคำ จนเมื่อประชาชนทั่วไปใช้เงินที่เป็นเงินเฟียตกันหมดแล้ว ในปี 1971 ทองคำถูกยกออกไปจากระบบเงินเฟียต ทำคุณไม่สามารถเอาดอลลาร์คุณไปแลกเป็นทองคำได้อีกต่อไป” เขากล่าวถึงประวัติศาสตร์ของและปัญหาของระบบการเงินแบบเดิมที่ทำให้เกิดบิตคอยน์
บิตคอยน์ ถือกำเนิดขึ้นมาครั้งแรกในปี 2008 โดยผู้สร้างนิรนามที่ชื่อว่า Satoshi Nakamoto แนวคิดสำคัญของบิตคอยน์ คือเป็นระบบเงินดิจิทัลไร้ศูนย์กลาง ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการบันทึกข้อมูล และการเข้ารหัส (Cryptography) การตรวจสอบและบันทึกการทำธุรกรรมกระทำโดยฉันทามติจากชุมชน บิตคอยน์จึงเป็นเงินที่ไม่มีเจ้าของ ไม่มีตัวกลาง แตกต่างจากระบบการเงินในอดีตที่รัฐ หรือธนาคารกลางเป็นผู้ตรวจสอบดูแล
ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว บิตคอยน์ จึงกลายเป็น นวัตกรรมการเงินเปลี่ยนโลกที่มีอิสระเสรีโดยแท้จริง “เพราะทุกขั้นตอนการอนุมัติธุรกรรม เราทำด้วยตัวเอง ด้วยระบบที่ทุกคนตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพื่อให้ไม่มีใครทำอะไรที่ผิดกฎเกณฑ์ ทุกคนเป็นผู้รักษากฎเกณฑ์ของระบบไปพร้อมกัน ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีธนาคารหรือสถาบันการเงิน ทำให้เราสามารถขนย้ายมูลค่ามหาศาลข้ามผ่านระยะทางไกลๆ ได้ในเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที”
หลังจากที่บิตคอยน์ถือกำเนิด แนวคิดของเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังบิตคอยน์ ได้ถูกนำมาต่อยอด จนเกิดเป็นสกุลเงินคริปโตอื่นๆ มากมาย เรียกว่า “Altcoin” หรือ “Alternative coin” เช่น อีเธอเรียม (Ethereum) ที่นำเงินคริปโตมาผนวกกับสัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) นอกจากนี้ ยังมี Altcoin อื่นๆ อีกมากมาย คาดว่าปัจจุบันมีเงินคริปโตที่ซื้อขายอยู่ในระบบกว่า 12,000 สกุลเงิน
แน่นอนว่าอรรถประโยชน์ที่เกิดขึ้นย่อมต้องแลกมากับข้อเสีย เช่น ธุรกรรมที่เกิดขึ้นในระบบการเงินคริปโตไม่สามารถย้อนกลับได้ หรือหากมีมิจฉาชีพมาแฮ็ครหัสผ่าน ขโมยเงิน ผู้ทำธุรกรรมไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้เนื่องจากระบบไม่มีตัวกลาง หรือแม้แต่เจ้าของลืมรหัสผ่าน ก็ไม่สามารถไปร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือกับใครได้ อาจารย์ตั๊มมองว่า ข้อด้อยเหล่านี้เป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการที่เราได้อิสรภาพของระบบการเงิน
แม้ว่าเงินคริปโตจะเป็นกระแสร้อนแรง แต่เมื่อมองภาพรวมของการค้าโลก ระบบเงินเฟียต หรือเงินดอลลาร์ยังเป็นเงินสกุลหลักที่ใช้ค้าขายระหว่างประเทศ เมื่อเทียบสัดส่วนแล้วมีคนจำนวนน้อยมากที่ใช้เงินคริปโตในการทำการค้า อาจารย์ตั๊มมองว่า การค้าในโลกการค้าคริปโตกับเฟียตในระดับพื้นผิวไม่ต่างกันเลย เพราะว่าเงินคือเงิน แต่ว่าสิ่งที่แตกต่างกันคือระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินบิตคอยน์จะมีความมั่นคงและยั่งยืนกว่าระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินเฟียต
อีกเหตุผลสำคัญที่การค้าขายด้วยเงินคริปโตเช่นบิตคอยน์คือความเสี่ยงจากความผันผวนที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นสกุลเงินใหม่ที่เพิ่งเกิด “หากดูตัวอย่างตอนที่เกิดระบบมาตรฐานทองคำขึ้นมาใหม่ช่วงยุคเรเนสซองส์ กว่าสกุลเงินฟลอริน ที่จะกลายมาเป็นสกุลหลักของยุคเรเนสซองส์ได้ ใช้พิสูจน์ตัวเองอยู่ 300 ปี บิตคอยน์มีอายุ 13 ปี ผมมองว่าความผันผวนมันลดลงเยอะมาก ในขณะที่ความผันผวนของดอลลาร์มันจะเพิ่มขึ้น”
เมื่อมองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ การที่เงินสกุลหนึ่งจะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคม จำเป็นต้องใช้เวลายาวนาน อาจารย์ตั๊มเชื่อว่า บิตคอยน์จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคนเริ่มเข้าใจระบบการทำงานของบิตคอยน์ คุณสมบัติที่เหนือกว่าตัวกลางในการแลกเปลี่ยนประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องอุปทาน (Supply) ของบิตคอยน์ที่มีจำนวนจำกัดแค่ 21 ล้านเหรียญ ซึ่งแตกต่างจากเงินโดยเฉพาะเงินเฟียตที่สามารถสร้างเพิ่มขึ้นมาได้ไม่จำกัด
ในที่สุดเมื่อถึงจุดเปลี่ยน เศรษฐกิจโลกอาจเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานบิตคอยน์ “ผมไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถ้าบิตคอยน์ยังรักษาความไร้ศูนย์กลางและความแข็งแกร่งไว้ได้ อาจจะ 10-20 ปี ต่อจากนี้เราน่าจะเห็นบิตคอยน์ ทำงานในเป็นหน่วยวัดมูลค่า (unit of account) แทนเงินดอลลาร์สหรัฐในอนาคต”