Digital Content เสกฝันเป็นเงิน

พูดถึงผู้นำของวงการดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) ของโลกคนส่วนใหญ่มักคิดถึง “ญี่ปุ่น” แหล่งผลิตสินค้าสร้างสรรค์สารพัดรูปแบบและสูงด้วยคุณภาพ ป้อนตลาดอินเตอร์มาอย่างยาวนาน ซึ่งตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของญี่ปุ่นมีมูลค่าสูงถึง 7.89 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 2.63 ล้านล้านบาท ในปี 2557

แชร์โพสต์นี้

cover-Digital Content เสกฝันเป็นเงิน

 

จุดเด่นของธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ญี่ปุ่น

ดิจิทัลคอนเทนต์ของญี่ปุ่นมีพัฒนาการมานานและมีความหลากหลาย เช่น หนังสือการ์ตูน (Manga) ที่แทบเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของญี่ปุ่น จนพัฒนามาเป็นหนังแอนิเมชัน และสื่อดิจิทัลอื่น เช่น ภาพยนตร์ เกมออนไลน์ และญี่ปุ่นยังคิดสิ่งอื่นพ่วงไปกับดิจิทัลคอนเทนต์ อาทิ คาราโอเกะและเกมปาชิงโกะ ทำให้ตลาดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก

ดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีโอกาสเติบโตสูง

สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ญี่ปุ่นรายงานว่า กลุ่มที่มีอัตราการขยายตัวมาก ได้แก่ e-magazine e-book เสียงและดนตรี เกมออนไลน์ และโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต/มือถือ

โอกาสของผู้ประกอบการไทยในญี่ปุ่น

คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ ผลิตงานที่มีคุณภาพในราคาที่ไม่สูงมากทำให้ญี่ปุ่นสนใจ outsource งานให้ไทยมาโดยตลอด ปัจจุบันญี่ปุ่นขาดแคลนนักวาดการ์ตูน และคอมพิวเตอร์กราฟิก ซึ่งบางโปรแกรมต้องใช้คู่มือภาษาอังกฤษที่ชาวญี่ปุ่นไม่ถนัด ทำให้หันมา outsource หรือ co-production งานแอนิเมชัน และคอมพิวเตอร์กราฟิกให้บุคลากรในประเทศอื่นทำมากขึ้น ซึ่งไทยเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ญี่ปุ่นติดต่องานด้านนี้เข้ามามาก บริการของไทยที่ญี่ปุ่นสนใจได้แก่ คอมพิวเตอร์กราฟิกสเปเชียลเอฟเฟกต์ และวิชวลเอฟเฟกต์

บทเรียนจากดิจิทัลคอนเทนต์ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการทำงานที่พยายามคิดค้นสินค้าใหม่ของตัวเองออกมาอยู่เสมอ ผู้ประกอบการไทยอย่าเพียงรับจ้างผลิตงานแอนิเมชันให้กับฮอลลีวู้ดหรือบริษัทญี่ปุ่นอย่างเดียว แต่ควรสร้างสรรค์ผลงานของตนเองด้วย

กิจกรรมส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์

นอกจากนำผู้ประกอบการไทยร่วมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องเพื่อเจรจาธุรกิจกับนักธุรกิจญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียวยังทำโครงการนำสินค้าที่มีคาร์แร็กเตอร์ของตัวการ์ตูน (Cartoon Characters)ไทยไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าไลฟ์สไตล์ชื่อดังของญี่ปุ่น ซึ่งงานดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ โดยนำผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าไลฟ์สไตล์ของญี่ปุ่นมาเลือกคาร์แร็กเตอร์ของตัวการ์ตูนไทย 7 ตัว และพัฒนาสินค้า 3 ชนิด ที่มีการ์ตูนไทยอยู่บนสินค้า รวมทั้งนำสินค้าที่วางขายในเมืองไทยอยู่แล้วจากบริษัทการ์ตูนที่ได้รับคัดเลือกมาจำหน่ายในห้างนี้ที่ญี่ปุ่นบางสาขาด้วย

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการไทย

เพื่อสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ ผู้ประกอบการควรร่วมงานแสดงสินค้าอย่าง Licensing Expo หรือ Licensing Japan หรือ Tokyo Game Show หรือร่วมประกวดการออกแบบเกมออนไลน์ต่างๆ ของผู้จัดต่าง ๆ เช่น ASEAN-Japan Center เพราะการนำเสนองานในเวทีเหล่านี้จะช่วยพัฒนาฝีมือ ได้เรียนรู้และเข้าใจตลาด ได้ทำความรู้จักกับผู้ซื้อและพันธมิตร รวมถึงคู่แข่งในตลาดโลกมากขึ้น

การสร้างผลงานดิจิทัลคอนเทนต์ใหม่ให้ติดตลาดต้องใช้เวลา นักสร้างสรรค์ไทย
ควรเริ่มทำตั้งแต่บัดนี้ให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ที่เน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นเจ้าของการ์ตูนแอนิเมชัน เกมชื่อดังในระดับโลก สร้างรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาและสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดต่อไป

รับคำปรึกษาเพื่อพัฒนาและทำการตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ ติดต่อสำนักส่งเสริมธุรกิจสร้างสรรค์ โทร. 02-507-8439 

Loading

บทความที่เกี่ยวข้อง