ทำไมต้องทำธุรกิจในแอฟริกา ?
แอฟริกาเป็นทวีปที่มีพื้นที่และจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากเอเชีย แต่
ยังต้องการการพัฒนาอีกหลายด้านทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร เพื่อตอบรับกับความต้องการของคนท้องถิ่น
ความขาดแคลนคือแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้นักลงทุนจากทุกมุมโลกกำลังหลั่งไหลไปสู่แอฟริกา ซึ่งยังมีสาธารณูปโภคคุณภาพดีไม่พอต่อความต้องการทั้งถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน โครงข่ายไฟฟ้า และระบบไอที นักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์จึงนำความท้าทายดังกล่าวมาสร้างโอกาสธุรกิจให้กับตัวเอง ด้วยการเข้าไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและธุรกิจในแอฟริกาในระยะต่อไป
ขณะเดียวกัน นี่คือภูมิภาคที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่งในระยะยาว ท่ามกลางโลกที่กำลังก้าวสู่
สังคมผู้สูงอายุ แต่แอฟริกามีประชากรอายุเฉลี่ยราว 20 ปีที่เป็นแรงงานหนุ่มสาวที่กำลังเติบโตภายใน 17 ปีข้างหน้า คาดว่าแอฟริกาจะมีคนวัยทำงานมากกว่าจีนหรืออินเดียด้วย และอีกไม่นาน
จะเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวของชุมชนเมืองเร็วที่สุดของโลก ซึ่งจุดเด่นเหล่านี้จะช่วยผลักดัน
การเติบโตของเศรษฐกิจแอฟริกา
นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งผนวกกับคนวัยแรงงานที่เพิ่มขึ้นจะทำให้
แอฟริกามีความต้องการสินค้าและบริการ ที่อยู่อาศัย และสาธารณูปโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งท้ายที่สุด
จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศต่อไป
เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วยังส่งผลให้ชนชั้นกลางมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งคนเหล่านี้
ต่างมีอำนาจซื้อ ต้องการออกไปใช้เงินนอกบ้าน เปิดบัญชีธนาคาร ซื้อสินค้ามียี่ห้อ รถยนต์ บ้าน
รวมถึงประกันชีวิต ปรากฏการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนใน “ไนจีเรีย” ที่เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ที่สุด
ในภูมิภาค ซึ่งพบว่าจำนวนชนชั้นกลางพุ่งพรวดถึง 600% ระหว่างปี 2543-2557 ขณะที่สแตนดาร์ด แบงก์ หนึ่งในธนาคารยักษ์ใหญ่ของแอฟริกาประเมินว่าอีก 13 ปี จะเห็นปรากฏการณ์
ครอบครัวชนชั้นกลางพุ่งพรวดแบบนี้ในประเทศอื่น เช่น กานา แองโกลา และซูดาน อีกด้วย
นอกจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตอื่นที่เป็น
กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแอฟริกาในปัจจุบัน แอฟริกายังมีจุดเด่นด้านพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งประเมินว่า 60% ของพื้นที่ทั่วโลกที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่เหมาะกับการเพาะปลูกล้วนอยู่ในแอฟริกา และธนาคารโลกยังเคยคาดการณ์ว่าเกษตรกรและอุตสาหกรรมเกษตรในภูมิภาคนี้จะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจาก 3.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (10.9 ล้านล้านบาท) ในปี 2553 เป็น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (35 ล้านล้านบาท) ในปี 2573 ซึ่งสิ่งที่แอฟริกายังขาดแคลนและต้องการในตอนนี้ก็คือองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการกษตรที่ไทยมีความเชี่ยวชาญนั่นเอง
จากปัจจัยข้างต้นทำให้ “แอฟริกา” เป็นตลาดใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ที่ผู้ประกอบการไทย
สามารถเข้าไปช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดแคลนในพื้นที่เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เติบโต
เติมเงินใส่กระเป๋าของผู้บริโภค ซึ่งจะกลายเป็นลูกค้าคนสำคัญในที่สุด
เสริมสร้างความเชื่อมั่นก่อนรุกตลาดใหม่แอฟริกา
ติดต่อ DITP Call Center 116
9 เรื่องลึก (ไม่ลับ) ฉบับแอฟริกา
1. 30% ของแหล่งแร่ของโลกอยู่ในแอฟริกา 40% ของแหล่งทองคำโลกและ 90% ของแหล่งแพลทินัมอยู่ในทวีปนี้
2. 60% ของที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และเหมาะกับการเพาะปลูกของโลกอยู่ในแอฟริกา
3.เป็นภูมิภาคที่เขตเมืองขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลก โดยระหว่างปี 2558-2588 จะมีคนอยู่ใน
เมืองใหญ่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 24 ล้านคน
4. 1 ใน 3 ของอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าแปรรูปที่ชาวแอฟริกันใช้เป็นสินค้านำเข้า
5. 2,000 คือจำนวนภาษาที่ใช้สื่อสารในทวีปแอฟริกา
6. กว่า 50% ของชาวแอฟริกันอายุน้อยกว่า 20 ปี จึงเป็นทวีปที่ประชากรมีอายุเฉลี่ยน้อยที่สุด
ในโลก
7. กว่า 50% ของบัญชีโมบาย มันนี่ทั่วโลกอยู่ในแอฟริกา
8. 10.2% คืออัตราการเติบโตของจีดีพีเอธิโอเปียในปี 2558 ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในโลก
9. ข้าว รถยนต์และอุปกรณ์ เครื่องยนต์ สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเม็ดพลาสติก คือ 5 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังแอฟริกา
ที่มา: รวบรวมข้อมูลจากรายงาน Lions on the Move II: Realizing the Potential of Africa’s Economies ของ McKinsey Global Institute, บทความของ World Economic Forum, สถิติของ DITP และ www.marketwatch.com